xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา”แฉ“ปิยสวัสดิ์”งุบงิบ เปิดทางขายสมบัติชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รสนา” ยันตรวจสอบ ปตท.ไม่มีเรื่องส่วนตัว ย้ำแยกท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% ให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมไม่ได้ แฉ “ปิยสวัสดิ์” ตัดทิ้งข้อความ “สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ในหนังสือ ก.พลังงาน ตั้งแต่ปี 51 จี้ตอบคำถามวันนี้มาสานต่อภารกิจเอาท่อก๊าซไปเป็นของเอกชนให้ได้ก่อนเลือกตั้งปี 2558 ใช่หรือไม่? ด้าน “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” สตาร์ทก้าวแรกเช้าวันนี้ เปิดเส้นทาง 1.4 พันกิโลฯ เดินเท้า 3 เดือนมุ่งเข้ากรุง

วานนี้ (18 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ในหัวข้อ “ท่อก๊าซธรรมชาติ : สาธารณสมบัติของแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ระบุตอนหนึ่งว่า มีมิตรสหายพลังงานท่านหนึ่งเขียนตั้งคำถามว่า ที่ดิฉันออกมาตรวจสอบ ปตท.โดยเฉพาะเรื่องแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่นั้น เพราะมีความเจ็บแค้นส่วนตัวอะไรนักหนากับ ปตท. ขอเรียนว่าที่ติดตามตรวจสอบ ปตท. ไม่มีความเจ็บแค้นอะไรเป็นส่วนตัวกับ ปตท. หรือประธานบอร์ด ปตท. หรือซีอีโอ ปตท.แต่ประการใด

“ที่คัดค้านเรื่องการแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่และให้เป็นของ ปตท.นั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะตั้งบริษัทท่อก๊าซให้เป็นของ ปตท. หากจะแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ รัฐต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ 100% เท่านั้นจึงจะเห็นด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

**ย้ำท่อก๊าซเป็นสมบัติชาติ

น.ส.รสนาชี้แจงต่อว่า ท่อส่งก๊าซในทะเลก็เหมือนสายส่งไฟฟ้า ระบบประปา หรือถนนหลวง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) และมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ตามกฎหมายเอาไปซื้อขายหรือยกให้เอกชนเป็นเจ้าของไม่ได้ นอกจากนี้ ในคำพิพากษาหน้า 72 ศาลได้บรรยายว่า ท่อส่งก๊าซเป็นทรัพย์สินที่ “ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ทรัพย์สินใดที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี แสดงว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะถูกยึดเหมือนทรัพย์สินของเอกชนไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะตั้งบริษัทท่อก๊าซ กรรมสิทธิ์ต้องเป็นของรัฐ 100% เท่านั้น

น.ส.รสนายังได้กล่าวย้อนถึง คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า ท่อก๊าซธรรมชาติเป็นของรัฐ 100% ไม่ให้นำไปรวมกับทรัพย์สินที่จะแปรรูป แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความจงใจฮุบกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการไม่แยกท่อก๊าซธรรมชาติก่อนการแปรรูป จึงเป็นเล่ห์กลในการลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติของรัฐจาก 100% เหลือเพียง 51% ตามหุ้นที่มีอยู่ใน บมจ.ปตท.

นอกจากนี้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ก็ได้มีมติเห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

“ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ยอมให้ ปตท.คืนเพียงที่ดินที่มีการรอนสิทธิเพื่อวางท่อบนบกเท่านั้น ส่วนท่อก๊าซในทะเลไม่ได้คืนทั้งหมดให้กับรัฐ แต่กลับปล่อยให้ ปตท.ไปรายงานต่อศาลฯ ว่าคืนครบแล้ว โดยไม่มีเอกสารการรับรองการคืนทรัพย์สินจาก สตง. อีกทั้งไม่รับฟังคำทักท้วงของ สตง.ว่า ปตท.ยังไม่ได้คืนทรัพย์สินไม่ครบ” น.ส.รสนา ระบุ

** แฉ “ปิยสวัสดิ์” เจตนาไม่ดีตั้งแต่ปี 51

น.ส.รสนา เปิดเผยด้วยว่า ที่น่าสนใจคือ มีหนังสือลงวันที่ 7 ม.ค.51 ของสำนักเลขารัฐมนตรีถึง รมว.กระทรวงพลังงานระบุเนื้อหาที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงานในขณะนั้น ขอแก้ไข โดยให้ตัดทิ้งข้อความที่ว่า “ซึ่งในหลักการแล้วสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้ จึงไม่ควรมีภาระภาษีใดๆ” จากวันนั้นที่นายปิยสวัสดิ์ ผู้ตัดข้อความ “สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ออกจากหนังสือกระทรวงพลังงาน 22 วันก่อนที่จะหมดวาระการเป็น รมว.พลังงาน มาวันนี้นายปิยสวัสดิ์เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. และผลักดันนโยบายแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ของ ปตท.

“การแยกท่อก๊าซธรรมชาติมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งของ ปตท. คือ การใช้กฎหมายมาลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติของรัฐลงจาก 100% เหลือ 51% และทำให้ความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติอีก 49% ตกเป็นของเอกชน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า “ซึ่งในหลักการแล้วสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ยกให้เอกชนมาเป็นเจ้าของร่วมกับรัฐก็ไม่ได้ นายปิยสวัสดิ์ควรตอบสังคมว่า นี่คือภารกิจที่ค้างไว้เมื่อปี 2551 เพราะหมดเวลาไปเสียก่อน คราวนี้จึงต้องรีบร้อนสานต่อภารกิจในการเอาท่อก๊าซไปเป็นของเอกชนให้ได้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 ใช่หรือไม่?” อดีต ส.ว.กทม.ระบุ

** "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" เริ่มสตาร์ท

จากกรณีเครือข่าวภาคประชาชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยนักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สมาคมและองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้รวมตัวกันในนาม "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" พร้อมร่วมกันจัดกิจกรรม "เดินวันละโยด เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ" จากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมกันจัดทำพิมพ์เขียวประเด็นการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นธรรมเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยกำหนดให้ตัวแทนทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์เวลา 09.00 น.และออกสตาร์ทเดินเท้าก้าวแรกเวลาประมาณ 10.00 น.ในวันนี้ (19 ส.ค.) จากบริเวณลานจตุรัสหน้าหอนาฬิกา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลานั้น

รายงานข่าวจากคณะเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานระบุถึงเส้นทางและกำหนดการเดินเท้าในแต่ละวัน และบางจุดจะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องพลังงานกับชุมชนในพื้นที่ด้วย โดยเป็นกำหนดการในช่วงแรกเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ถึง จ.ชุมพร ส่วนต่อจากนั้นจะกำหนดกันอีกครั้ง ทั้งนี้พบว่าคณะเดินเท้าจะเน้นเคลื่อนไปตามเส้นทางชุมชนหรือเมืองที่ตื่นตัวเรื่องต่างๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปพลังงาน ไม่เน้นเส้นทางตรงหรือต้องการย่นระยะทางให้สั้นที่สุด ซึ่งเมื่อประเมินแล้วจะมีระยะทางยาวถึงราว 1,400 ก.ม. และใช้เวลาร่วมแล้วกว่า 3 เดือนเป็นอย่างน้อย

** เปิดเส้นทาง 1,400 ก.ม.มุ่งหน้าเข้ากรุง

เริ่มจากวันที่ 19 ส.ค.เวลาประมาณ 10.00 น. หลังประกาศเจตนารมณ์ของผู้แทนทุกจังหวัด ขบวนเดินเท้าจะเคลื่อนผ่านย่านการค้ากลางเมืองหาดใหญ่ ข้ามสะพานรถไฟไปยังย่านหาดใหญ่ใน ผ่านสี่แยกควนลัง แล้วเลี้ยวไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าสู่ตลาดรุ่งโรจน์ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา,

20 ส.ค.เคลื่อนต่อไปตามถนนสายเอเชียถึงแยกคูหา อ.รัตภูมิ, 21 ส.ค.เข้าสู่พื้นที่ จ.พัทลุง โดยระหว่างรอยต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวพัทลุงมาต้อนรับและร่วมเดินเท้าต่อไปยังสำนักสงฆ์ดอนขี้เหล็ก อ.ป่าบอน, 22 ส.ค.พักการเดิน 1 วัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับประชาชนในพื้นที่และฟื้นฟูร่างกายคณะเดินเท้า 23 ส.ค.เคลื่อนขบวนต่อถึงเทศบาล ต.ป่าบอน, 24 ส.ค.ถึงแยกนาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง, 25 ส.ค.เข้าสู่เมืองพัทลุง ช่วงค่ำมีเวทีปฏิรูปพลังงาน, 26 ส.ค.ถึงแยกโพธิ์ทอง อ.ควนขนุน, 27 ส.ค.จากถนนสายเอเชียเลี้ยวขวาสู่ทะเลน้อย, 28 ส.ค.ผ่านถนนไส้กลิ้ง-หัวป่า ถึงวัดหัวป่า อ.ระโนด จ.สงขลา, 29 ส.ค.ถึงวัดคลองแดน อ.ระโนด

จากนั้น 30 ส.ค.พัก 1 วัน, 31 ส.ค.มุ่งหน้าสู่ อ.หัวไทย จ.นครศรีธรรมราช โดยช่วงรอยต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวนครศรีธรรมราชมาต้อนรับไปยังเทศบาล ต.หัวไทร ช่วงค่ำมีเวทีพูดคุยประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน, 1 ก.ย.สู่บ้านบ่อล้อ อ.เชียรใหญ่, 2 ก.ย.ถึงโรงเรียนวัดหม่น อ.เฉลิมพระเกียรติ, 3 ก.ย.ถึงสนามหน้าเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีเวทีปฏิรูปพลังในนามเครือข่าย 16 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช, 4 ก.ย.ถึง อ.ท่าศาลา ช่วงค่ำจะมีเวทีประเด็นปิโตรเลียมและถ่านหิน, 5 ก.ย.พัก 1 วัน

** เน้นลัดเลาะชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้

6 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงแยกหิน อ.สิชล, 7 ก.ย.ถึงตัว อ.สิชล, 8 ก.ย.ถึงโรงเรียนวัดคลองเหรง อ.ขนอม, 9 ก.ย.ข้ามเขตสู่ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วงต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวสุราษฎร์ธานีมาต้อนรับและเดินสู่วัดสวนเวฬุวัน อ.ดอนสัก จากนั้นขึ้นเรือเฟอร์รี่ไปยังเกาะสมุยร่วมเวทีประเด็นปิโตรเลียม, 10 ก.ย.เดินทางกลับ อ.ดอกสัก แล้วเดินเท้าต่อไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคแห่งที่ 2 อ.กาญจนดิษฐ์, 11 ก.ย.ถึงแยกหนองสวน อ.กาญจนดิษฐ์, 12 ก.ย.ถึงสะพานนริศ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมเวทีปฏิรูปพลังงาน, 13 ก.ย.พัก 1 วัน, 14 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงวัดตลิ่งชัน อ.พุนพิน, 15 ก.ย.ถึงวัดท่าแซะ อ.ท่าฉาง ร่วมเวทีประเด็นขุดเจาะปิโตรเลียม, 16 ก.ย.ถึง ต.เลม็ด อ.ไชยา, 17 ก.ย.ช่วงข้ามสู่ จ.ชุมพร จะมีเครือข่ายประชาชนชาวชุมพรมาต้อนรับสู่สี่แยกหนองนิล อ.ท่าชนะ, 18 ก.ย.ถึง อ.ละแม ร่วมเวทีประเด็นถ่านหิน, 19 ก.ย.ถึงศาลาประชาคม อ.หลังสวน, 20 ก.ย.ถึงบ้านในเหมือง อ.หลังสวน จากนั้นพัก 1 วัน

22 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงวิทยาลัยเกษตร อ.ทุ่งตะโก, 23 ก.ย.ถึงโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา อ.ทุ่งตะโก, 24 ก.ย.ถึงวัดพะงุ้น อ.สวี, 25 ถึงศูนย์วิจัยพืชสวน อ.สวี, 26 ก.ย.ถึงแยกวิสัย (วัดเขาดิน) อ.สวี, 27 ก.ย.ถึงสี่แยกปฐมพร แล้วเข้าไปร่วมเวทีบริเวณหน้าเทศบาลเมืองชุมพร, จากนั้น 28 ก.ย.พัก 1 วัน, 29 ก.ย.ถึงโรงเรียนท่าข้ามวิทยา อ.ท่าแซะ, 30 ก.ย.ถึงตลาดท่าแซะ อ.ท่าแซะ, 1 ต.ค.ถึงค่าย ตชด.ท่าแซะ, 2 ต.ค. ถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตร (ศูนย์หม่อนไหม) ชุมพร, 3 ต.ค.ถึงวัดเขาเลี้ยว อ.ท่าแซะ, 4 ต.ค.ช่วงข้ามสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีเครือข่ายประชาชนชาวประจวบคีรีขันธ์มาต้อนรับและร่วมเดินเท้าถึง อบต.เขาไชยราช อ.บางสะพานน้อย สำหรับการเดินเท้าในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์จนถึงกรุงเทพฯ จะมีการกำหนดโดยละเอียดอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น