xs
xsm
sm
md
lg

14 จว.ใต้พร้อมรับลูกเคลื่อนไหวต่อหากเดินเท้า “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ถูกกั๊ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ที่ใช้ในการรณรงค์
  
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สตาร์ทก้าวแรกเช้า 19 ส.ค.นี้ เปิดเส้นทางเดินเท้า “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” จากปักษ์ใต้เข้ากรุงเทพฯ เน้นเลี้ยวเลาะเข้าหาชุมชน และเมืองที่ตื่นตัวเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การทำพิมพ์เขียวเสนอรัฐ ประเมินแล้วไกลถึง 1,400 ก.ม. คาดต้องใช้เวลาเดินไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เผยเครือข่ายประชาชนทุกจังหวัดตลอดเส้นทางพร้อมรับลูกเคลื่อนไหวต่อหากขบวนมีอันต้องชะงัก
 
จากกรณีเครือข่าวภาคประชาชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สมาคม และองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้รวมตัวกันในนาม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” พร้อมร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ” จากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมกันจัดทำพิมพ์เขียวประเด็นการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นธรรม เสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยกำหนดให้ตัวแทนทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์เวลา 09.00 น. และออกสตาร์ทเดินเท้าก้าวแรกเวลาประมาณ 10.00 น. ในวันอังคารที่ 19 ส.ค.นี้ จากบริเวณลานจัตุรัสหน้าหอนาฬิกา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลานั้น

 

ล่าสุด “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้รับการเปิดเผยจากคณะเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานถึงเส้นทาง และกำหนดการเดินเท้าในแต่ละวัน และบางจุดจะมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องพลังงานกับชุมชนในพื้นที่ด้วย โดยเป็นกำหนดการในช่วงแรกเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ถึง จ.ชุมพร ส่วนต่อจากนั้นจะกำหนดกันอีกครั้ง ทั้งนี้ พบว่าคณะเดินเท้าจะเน้นเคลื่อนไปตามเส้นทางชุมชน หรือเมืองที่ตื่นตัวเรื่องต่างๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องต่อการปฏิรูปพลังงาน ไม่เน้นเส้นทางตรง หรือต้องการย่นระยะทางให้สั้นที่สุด ซึ่งเมื่อประเมินแล้วจะมีระยะทางยาวถึงราว 1,400 ก.ม. และใช้เวลาร่วมแล้วกว่า 3 เดือนเป็นอย่างน้อย

 

เริ่มจากวันที่ 19 ส.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. หลังประกาศเจตนารมณ์ของผู้แทนทุกจังหวัด ขบวนเดินเท้าจะเคลื่อนผ่านย่านการค้ากลางเมืองหาดใหญ่ ข้ามสะพานรถไฟไปยังย่านหาดใหญ่ใน ผ่านสี่แยกควนลัง แล้วเลี้ยวไปตามถนนสายเอเชีย มุ่งหน้าสู่ตลาดรุ่งโรจน์ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา 20 ส.ค.เคลื่อนต่อไปตามถนนสายเอเชียถึงแยกคูหา อ.รัตภูมิ 21 ส.ค.เข้าสู่พื้นที่ จ.พัทลุง โดยระหว่างรอยต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวพัทลุงมาต้อนรับและร่วมเดินเท้าต่อไปยังสำนักสงฆ์ดอนขี้เหล็ก อ.ป่าบอน 22 ส.ค.พักการเดิน 1 วัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับประชาชนในพื้นที่ และฟื้นฟูร่างกายคณะเดินเท้า

 

23 ส.ค.เคลื่อนขบวนต่อถึงเทศบาล ต.ป่าบอน 24 ส.ค.ถึงแยกนาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง 25 ส.ค.เข้าสู่เมืองพัทลุง ช่วงค่ำมีเวทีปฏิรูปพลังงาน 26 ส.ค.ถึงแยกโพธิ์ทอง อ.ควนขนุน 27 ส.ค.จากถนนสายเอเชีย เลี้ยวขวาสู่ทะเลน้อย 28 ส.ค.ผ่านถนนไส้กลิ้ง-หัวป่า ถึงวัดหัวป่า อ.ระโนด จ.สงขลา 29 ส.ค.ถึงวัดคลองแดน อ.ระโนด จากนั้น 30 ส.ค.พัก 1 วัน 31 ส.ค.มุ่งหน้าสู่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยช่วงรอยต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวนครศรีธรรมราช มาต้อนรับไปยังเทศบาล ต.หัวไทร ช่วงค่ำมีเวทีพูดคุยประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ก.ย.สู่บ้านบ่อล้อ อ.เชียรใหญ่ 2 ก.ย.ถึงโรงเรียนวัดหม่น อ.เฉลิมพระเกียรติ 3 ก.ย.ถึงสนามหน้าเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีเวทีปฏิรูปพลังในนามเครือข่าย 16 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช 4 ก.ย.ถึง อ.ท่าศาลา ช่วงค่ำจะมีเวทีประเด็นปิโตรเลียมและถ่านหิน 5 ก.ย.พัก 1 วัน

 

6 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงแยกหิน อ.สิชล 7 ก.ย.ถึงตัว อ.สิชล 8 ก.ย.ถึงโรงเรียนวัดคลองเหรง อ.ขนอม 9 ก.ย.ข้ามเขตสู่ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วงต่อแดนจะมีเครือข่ายประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี มาต้อนรับ และเดินสู่วัดสวนเวฬุวัน อ.ดอนสัก จากนั้นขึ้นเรือเฟอร์รี่ไปยังเกาะสมุย ร่วมเวทีประเด็นปิโตรเลียม 10 ก.ย.เดินทางกลับ อ.ดอกสัก แล้วเดินเท้าต่อไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคแห่งที่ 2 อ.กาญจนดิษฐ์ 11 ก.ย.ถึงแยกหนองสวน อ.กาญจนดิษฐ์ 12 ก.ย.ถึงสะพานนริศ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมเวทีปฏิรูปพลังงาน 13 ก.ย.พัก 1 วัน 14 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงวัดตลิ่งชัน อ.พุนพิน 15 ก.ย.ถึงวัดท่าแซะ อ.ท่าฉาง ร่วมเวทีประเด็นขุดเจาะปิโตรเลียม 16 ก.ย.ถึง ต.เลม็ด อ.ไชยา 17 ก.ย.ช่วงข้ามสู่ จ.ชุมพร จะมีเครือข่ายประชาชนชาวชุมพรมาต้อนรับสู่สี่แยกหนองนิล อ.ท่าชนะ 18 ก.ย.ถึง อ.ละแม ร่วมเวทีประเด็นถ่านหิน 19 ก.ย.ถึงศาลาประชาคม อ.หลังสวน 20 ก.ย.ถึงบ้านในเหมือง อ.หลังสวน จากนั้นพัก 1 วัน

 

22 ก.ย.เดินเท้าต่อถึงวิทยาลัยเกษตร อ.ทุ่งตะโก 23 ก.ย.ถึงโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา อ.ทุ่งตะโก 24 ก.ย.ถึงวัดพะงุ้น อ.สวี 25 ก.ย.ถึงศูนย์วิจัยพืชสวน อ.สวี 26 ก.ย.ถึงแยกวิสัย (วัดเขาดิน) อ.สวี 27 ก.ย.ถึงสี่แยกปฐมพร แล้วเข้าไปร่วมเวทีบริเวณหน้าเทศบาลเมืองชุมพร จากนั้น 28 ก.ย.พัก 1 วัน 29 ก.ย.ถึงโรงเรียนท่าข้ามวิทยา อ.ท่าแซะ 30 ก.ย.ถึงตลาดท่าแซะ อ.ท่าแซะ 1 ต.ค.ถึงค่าย ตชด.ท่าแซะ 2 ต.ค. ถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตร (ศูนย์หม่อนไหม) ชุมพร 3 ต.ค.ถึงวัดเขาเลี้ยว อ.ท่าแซะ 4 ต.ค.ช่วงข้ามสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีเครือข่ายประชาชนชาวประจวบคีรีขันธ์ มาต้อนรับ และร่วมเดินเท้าถึง อบต.เขาไชยราช อ.บางสะพานน้อย สำหรับการเดินเท้าในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงกรุงเทพฯ จะมีการกำหนดโดยละเอียดอีกครั้ง

 

 
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หนึ่งในคณะที่จะร่วมเดินเท้าตลอดเส้นทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการปฏิรูปพลังงานแล้ว ยังจะแตกแยกย่อยไปตามการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ชาวจะนะ จ.สงขลา และชาวปากบารา จ.สตูล จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเกษตร ประมง และท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ชาวท่าศาลา และชาวหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงชาวกระบี่จะเน้นประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
 
“เรื่องพลังงานมีความซับซ้อน จึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจประชาชนกลุ่มต่างๆ เราจึงเดินไปช้าๆ สักวันละ15-16 ก.ม. แล้วเน้นเข้าหาชุมชน และเมืองที่ตื่นตัว ข้อมูลที่เรารวบรวมมาไม่ต่ำกว่า 15 ปี จะสามารถสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจได้แน่นอน ตอนนี้ชาวบ้านก็สงสัยว่าทำไมเขาต้องใช้น้ำมัน และก๊าซหุงต้มแพงกว่าคนมาเลเซีย แค่เรื่องนี้ก็นับว่าใหญ่แล้ว ยังมีเรื่อง ปตท.และการยกให้กุล่มทุนต่างประเทศอีก ที่เราทำเพราะต้องการทำพิมพ์เขียนสนับสนุนการปฏิรูปพลังงาน หากถูกขัดขวางแต่ละจังหวัดตกลงจะรับลูกกันแบบต่อเนื่องไปเพื่อเคลื่อนไหวต่อ”
 
ด้าน นายวิสุทธิ์ ทองย้อย อาสาสมัครองค์กรพัฒนาเอกชนจาก จ.ตรัง อีกหนึ่งในคณะที่จะร่วมเดินเท้าตลอดเส้นทาง บอกเล่าเพิ่มเติมว่า เขาคลุกคลีกับชาวบ้านในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่กรรมกร ชาวนา ชาวประมง จึงพบว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านมีศักยภาพเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว ไม่คุ้มเลยหากภาครัฐจะทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องทบทวน และหันมาฟังเสียงประชาชนอย่างจริงจังเสียที สมัยอยุธยาคนเปิดประตูให้พม่าเข้าโจมตีจนบ้านเมืองเสียหายต้องถูกตัดหัว แต่เวลานี้คนเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยทรัพยากรไทยกลับอยู่ได้ดี

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น