xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

White Lies และการครอบงำนโยบายการเงิน

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จะเข้าสู่การประชุมพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 3 - 4 กันยายน 2555 นี้ แม้จะไม่มีความหมายอะไรมากนักเพราะวุฒิสภาพิจารณาเป็นวาระเดียว แก้ไขไม่ได้ แค่ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น แต่เมื่อได้โอกาสอภิปรายก็จะขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้เป็นที่ประจักษ์

ประเด็นที่ผมจะอภิปรายก็อย่างที่ตั้งหัวเรื่องไว้

- White Lies

- การครอบงำนโยบายการเงิน


ในประเด็นแรก ผมพูดถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณครับ ไม่ได้พูดถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สร้างประวัติศาสตร์ยอมรับต่อสาธารณะว่าท่านพูดไม่จริงเรื่องเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออก เรื่องหลังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินท่านจะประชุมกันวันที่ 5 กันยายนนี้ว่าจะรับเรื่องที่มีประชาชนร้องเข้ามาให้สอบว่าการยอมรับเช่นนั้นเป็นการกระทำความผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 หรือไม่ และถ้าผิด จะร้ายแรงถึงขั้นต้องส่งต่อให้ป.ป.ช.พิจารณาตามกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่ ผมพูดถึงตัวพ.ร.บ.งบประมาณโดยตรงว่ามันไม่ได้บอกเล่าความเป็นจริงทั้งหมด

เพราะมีรายจ่ายนอกระบบงบประมาณไม่ได้บรรจุไว้ และไม่ได้มีแม้แต่หมายเหตุกำกับไว้ ที่แน่ ๆ ก็คือโครงการเร่งด่วนป้องกันน้ำท่วมตามพระราชกำหนดเมื่อต้นปี 2555 อย่างน้อย 3.5 แสนล้านบาท บวกกับอีก 5 หมื่นล้านบาท

จำนวน 4 แสนล้านบาทนี่เกือบเท่างบลงทุนในตัวร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 4.4 แสนล้านบาททีเดียว

การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณโดยอ้างเหตุความจำเป็นเร่งด่วนกำลังเป็นประเพณีใหม่ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะก็กำลังจะลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานในรอบ 7 ปีอีก 2.07 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้นทางฟากหนี้สินก็บันทึกเฉพาะหนี้สินที่ก่อโดยกระทรวงการคลัง ไม่รวมถึงหนี้ที่ก่อโดยหน่วยงานอื่นของภาครัฐเช่นสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และ ฯลฯ

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจึงมองไม่เห็นภาพรวมการใช้จ่ายและการหารายได้ของประทศ

พอจะเรียกว่า White lies ได้มั้ย ?


ประเด็นที่สองคงจะสอดคล้องกับที่ผมนำเสนอ ณ ที่นี้มาโดยตลอด และเป็นความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงที่ปรากฎมาโดยตลอดอายุรัฐบาลชุดนี้ คือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ

ที่ดูเหมือนที่ผ่านมาผมปกป้องความเป็นอิสระพอสมควรของแบงก์ชาตินั้น สารัตถะที่แท้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแบบที่เราคุ้นเคยโดยตรง ไม่ใช่การยืนข้างอำนาจเก่าหรือทุนเก่า และไม่ใช่การยืนข้างอำมาตย์ แต่ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองที่มาจาก popular vote ที่สามารถกำหนดนโยบายการคลัง (fiscal policy) ได้เต็มที่อยู่แล้วสามารถเข้ามาครอบงำจนสามารถกำหนดนโยบายการเงิน (monetary policy) ได้ตามใจชอบ โดยไม่มีการถ่วงดุล ซึ่งเป็นการขัดหลักการสากลที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง เพราะถ้าฝ่ายการเมืองที่ต้องจัดทำงบประมาณทุกปีมีภาระหนักที่ต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะ และต้องการให้มีการลงทุนมาก ๆ มีการจับจ่ายใช้สอยมาก ๆ ก็มีแนวโน้มโดยธรรมชาติที่ต้องการให้ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ซึ่งมันจะมีผลกระทบข้างเคียงตามมา

เงินเฟ้อ, สินค้าแพง !

นโยบายการคลังคือนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดหารายได้และการใช้จ่ายนั้นโดยปกติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง

แต่นโยบายการเงินคือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน อาทิ ปริมาณเงิน, อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ โดยปกติทั่วไปเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะต้องมีอิสระพอสมควรในการกำหนดนโยบาย ต่างชาติเขาถึงจะเชื่อถือ ถ้ารัฐบาลสามารถครอบงำธนาคารกลางได้เบ็ดเสร็จจะมีผลเสียหายตามมามหาศาล ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่าธนาคารกลางนั้นฐานภาพสำคัญที่สุดคืออำนาจในการพิม์เงิน หากครอบงำธนาคารกลางได้เบ็ดเสร็จก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลยึดแท่นพิมพ์เงินได้นั่นเอง

ก็ไม่ต้องคิดหารายได้อะไรแล้ว บำเพ็ญตนเป็นพ่อพระแจกอย่างเดียว กว่าผลเสียหายจะประจักษ์ก็เปิดตูดไปแล้ว

อันที่จริงกฎหมายแบงก์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายปี 2551 ทั้ง ๆ ที่เป็นยุคสภาเดียว สภาข้าราชการประจำ แต่ก็ไม่ได้ให้ความเป็นอิสระเต็ม 100 กับธนาคารกลางในการกำหนดนโยบายการเงิน แต่วางสมดุลไว้ให้ฝ่ายบริหารมีส่วนร่วมมากพอสมควร และอำนาจสุดท้ายอยู่ที่คณะรัฐมนตรี

แต่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้แกประกาศมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2555 เป็นวาทะอมตะ

"ผมไม่มีหน้าที่เถียงกับแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผมและเถียงให้น้อยลง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง เพราะผมไม่ใช่แค่รัฐมนตรีคลัง แต่ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจด้วย การที่ส่งสัญญาณว่าอยากให้บาทอ่อน ก็เพราะต้องการแบบนั้นจริง ๆ ใครจะมาฟาดปากผม ผมก็ไม่แคร์..."

เป็นความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของการบริหารนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน

แบงก์ชาติมีหน้าที่เถียงรัฐมนตรี !

ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ดีจะมีศาสตร์และศิลป์ในการเถียงกับรัฐมนตรี !!


จริง ๆ ผมว่าการมุ่งครอบงำนโยบายการเงินของรัฐบาลนั้น ก็เพื่อกลบความผิดพลาดหรือกลบความไม่มีประสิทธิภาพไม่มีอะไรเป็นสาระของการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลโดยแท้

รัฐบาลมีแต่นโยบายจ่ายเงิน

แต่ไม่มีนโยบายหาเงิน

มันขัดหลักความจริงนะที่มีแต่จ่าย จ่าย จ่าย และจ่าย แต่นอกจากจะไม่ขึ้นภาษีแล้ว ยังลดภาษีอีกต่างหาก

แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาเขี้ยวครับ เขาเห็นทุนสำรองระหว่างประเทศมาตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลก็วนเวียนอยู่กับเงินก้อนโตนี้แหละ จะตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติบ้าง จะเอาไปลงทุนซื้อบ่อน้ำมันบ้าง จะสร้างคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์บ้าง จะซื้อเครื่องจักรมาลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานบ้าง และจะลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมดบ้าง

แต่ก้างขวางคอคือแบงก์ชาติ

ก็เลยต้องมี White lies ชุดใหญ่ว่าด้วยวาทกรรม "ทุนสำรองระหว่างประเทศคือเงินออม" และ "ควรเปลี่ยนนโยบายการเงิน เลิกยึดติดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ" ที่ผมเขียนมาสองสามครั้งนั่นแหละ

นโยบายการคลังว่าด้วยฟากการหารายได้ รัฐบาลไม่ได้คิดเลย เพราะมัวแต่มุ่งงาบทุนสำรองระหว่างประเทศ

ทั้ง ๆ ที่หากปรับเปลี่ยนนโยบายปิโตรเลี่ยมแห่งชาติที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนมา 41 ปีก็เพิ่มรายได้ได้พอสมควรแล้ว

ก็เป็น 2 ประเด็นที่ผมพยายามจะเรียบเรียงมาอภิปรายในฐานะตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จะทำได้ดีแค่ไหนก็ช่วยเอาใจช่วยด้วยนะครับ

White Lies และการครอบงำนโยบายการเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น