“คำนูณ” ติง รบ.ไม่ชัดเจนแผนงบฯ สมดุล ซุกหนี้นอกระบบ ชี้แนวโน้มรายได้จริงต่ำกว่าประมาณการ เชื่อ รบ.มีแผนทุบกระปุกทุนสำรองระหว่างประเทศใช้หนี้ งัดช่องว่าง กม.เข้าครอบงำการดำเนินนโยบายการเงิน ยึดแท่นพิมพ์เงินเอง ก่อนจับธนาคารกลาง เป็นแพะรับบาปทำ เงินเฟ้อ-สินค้าแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ (3 ก.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา อภิปรายถึงความไม่ชัดเจนของการดำเนินนโยบายการคลังว่า รัฐบาลไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะทำให้งบประมาณของประเทศเข้าสู่ภาวะสมดุล และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้งบประมาณเข้าสู่ภาวะสมดุล
ถึงแม้ว่าการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2556 ที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะ นี้จะลดลงจากปีงบประมาณ 2555 อยู่ 1 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่น่าภูมิใจอะไรนัก เพราะประมาณร้อยละ 50 ของยอด 1 แสนล้านบาทนี้ คือประมาณ 50,000 ล้านบาทกลมๆ มาจากการลดรายจ่ายการตั้งงบประมาณใช้หนี้ดอกเบี้ยกอง ทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยโอนภาระไปให้ธนาคารชาติเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ตาม พ.ร.ก.เมื่อต้นปี ตรงนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในเอกสารงบประมาณไม่ได้ระบุ “หมายเหตุ” ไว้
ที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐบาลสามารถลดการขาดดุลลงก็เพราะ ได้เอางบลงทุนก้อนโตเกือบเท่าๆ งบลงทุนในงบประมาณปีเดียวกันนี้ไป “ซุก” หรือ “ซ่อน” อยู่ในเงินกู้นอกงบประมาณ โดยการตราพระราชกำหนดเมื่อต้นปี 2 ยอด 3.5 แสนล้านบาท บวกอีก 5 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงิน 4 แสนล้านบาท
นายคำนูณกล่าวต่อว่า จริงๆ ถ้านับรวมเงินกู้นอกงบประมาณ นับเฉพาะยอด 3.5 แสนล้านบาทที่จะต้องกู้ให้หมดภายในมิถุนายน 2556 เราจะขาดดุล 6.5 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 3 แสนล้านบาทตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งก็แน่นอนว่าในเอกสารงบประมาณ 2556 ไม่ระบุเป็น “หมายเหตุ” ไว้อีกเช่นกัน
ไม่เพียงแต่เท่านั้น รัฐบาลยังประกาศแผนการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งใหญ่อีก 2.2 หรือ 2.07 ล้านบาท ให้เสร็จเฟสแรกภายในระยะเวลา 6 ปี ซึ่งแม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีคลังบอกว่าจะเป็นเงินกู้ 1.6-2.0 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลจะเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่รัฐสภาภายใน 6 เดือน
ถ้าการใช้เงินก้อนนี้มีระยะเวลา 5 ปี จากปีงบประมาณ 2557-2561 และยอด เงินกลมๆ คิดในใจง่ายๆ เป็น 2.0 ล้านล้านบาท ก็แปลว่าในรอบ 5 ปีจากนี้เราจะต้องทนอยกู้เฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาทกลมๆ เท่ากับเราจะมียอดขาดดุลงบประมาณจากเงินลงทุนนอกงบประมาณปีละ4 แสนล้านบาทต่อไปอีก 5 ปี โดยไม่นับยอดขาดดุลในงบประมาณอีกว่าจะเป็น 2 แสนล้านบาทในปี 2557 หรือ 1 แสนล้านบาทในปี 2558 ตามที่รัฐมนตรีชี้แจง
พูดง่ายๆ ว่าต่อให้ภายใน 5 ปีจากนี้ไป จนถึงปีงบประมาณ 2561 ต่อให้รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้จริงในปีงบประมาณ 2559 ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นงบประมาณสมดุลจริง เพราะรัฐบาลยังมีเงินกู้นอกงบประมาณอีกก้อนใหญ่ เฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท พร้อมกับตั้งข้อสังเกต ในเอกสารงบประมาณปีต่อๆ ไปรัฐบาลจะระบุเป็น “หมายเหตุ” ไว้หรือไม่ และถ้าไม่ระบุ จะถือว่าทำครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 หรือไม่
คำถามก็คือ ในเมื่อได้มีการเตรียมกู้เงินนอกงบประมาณอย่างมากมหาศาลเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท สูงกว่าการขาดดุลในงบประมาณแต่ละปีในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะสามารถจัดทำงบประมาณให้เข้าสู่จุดสมดุลที่แท้จริงได้เมื่อไหร่ อย่างไร หรือว่าที่กู้ก็กู้ไป ที่ขาดดุลก็ขาดดุลไป หาวิธีซุกวิธีซ่อนไป จนกว่าจะกู้ไม่ได้เพราะรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหว หรือจนกว่าเศรษฐกิจจะล่มสลายเพราะรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้เหมือนหลายๆ ประเทศในยุโรปขณะนี้
“เรื่องการใช้เงินนอกงบประมาณนี่ผมทักท้วงมาโดยตลอด ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์ผมก็ทักท้วงอย่างเต็มที่ในกรณีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพราะอะไรหรือ เพราะมันทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของการใช้จ่ายและการหารายได้ของรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 167 เป็นหมัน”
นายคำนูณกล่าวว่า ตนเคยอภิปรายตั้งแต่งบประมาณปี 2555 ว่ารัฐสภากำลังพิจารณาของปลอม เพราะร้อยละ 80 เป็นรายจ่ายประจำที่ตัดไม่ได้ อีกไม่ถึงร้อยละ 20 เป็นงบลงทุนประเภทสร้างตึกสร้างอาคารทั่วไป ไม่ใช่การลงทุนทางยุทธศาสตร์ ที่เหลือเป็นงบใช้หนี้ ตัดไม่ได้ รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่มีโอกาสพิจารณารายละเอียดของการลงทุนที่เป็นยุทธศาสตร์เลย ไม่ว่าโครงการป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ (อ้างว่า) จะเปลี่ยนประเทศไทย 2.07 ล้านล้าน
ทั้งนี้ หากจำได้ในการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน มีรายละเอียดเข้ามาหน้ากว่าๆ ให้รัฐสภารับทราบ และจนบัดนี้ในทีโออาร์ก็ยังไม่ชัดเจน มันแตกต่างกันมากหากบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะอย่างน้อยก็ต้องทำตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ผ่านหลายหน่วยงาน ไม่ใช่กะเอา แล้วตั้งทีโออาร์ประกวดแนวคิดว่าควรทำอะไร
และเมื่อไม่ได้บรรจุไว้ในงบประมาณตั้งแต่ต้นเสียแล้ว ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีนี้หรือปีต่อไปก็จะไม่ปรากฏรายละเอียด แล้วรัฐสภาจะตรวจสอบได้อย่างไร แล้วรัฐสภาจะถามรัฐบาลได้ในวาระไหนว่าปากบอกว่าเร่งด่วน เร่งด่วน แต่จนบัดนี้ใช้ไปเพียง 7,000 ล้านบาทใช่หรือเปล่า และที่กำหนดไว้ให้ต้องกู้หมดภายในมิถุนายน 2556 มันมีต้นทุน มิเท่ากับกู้มาเก็บไว้เฉยๆ ก่อนหรือ ในเมื่อโครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เช่นเดียวกับอีก พ.ร.ก.หนึ่งเกี่ยวกับกองทุนประกันภัย ยอดกู้ 50,000 ล้านบาท ไม่แน่ใจว่าตอนนี้กู้ไปถึง 10,000 ล้านบาทแล้วหรือยัง สำเร็จหรือติดขัดอะไร
“การไม่บรรจุไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีทำให้ไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ในงบหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป และยังเป็นการใช้ข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เกินความจำเป็น”
นายคำนูณกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้น (1) กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย (2) กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ (3) กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณ และ (4) กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จะมียกเว้นก็แต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
ดูเหมือนวันนี้เราเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลักเสียแล้ว แค่ “พระราชกำหนด” ก็จ่ายเงินแผ่นดินที่กู้มาได้เกือบเท่ากับงบลงทุนในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแต่ละปี รัฐสภาทำได้แค่รับทราบ ไม่ได้พิจารณาและอนุมัติ หลักเกณฑ์ก็ไม่ชัดเจน ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีก็ใช้ได้แล้ว เมื่อคราว “ไทยเข้มแข็ง” กับ “มหาอุทกภัย” แม้ตนจะไม่เห็นด้วย เมื่อฟังเหตุผลก็ยังพอกล้ำกลืนฝืนทน แต่ที่จะลงทุนครั้งใหญ่อีก 2.07 ล้านล้านบาทนี่ ใจคอจะไม่ให้รัฐสภาที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยร่วมพิจารณาและอนุมัติเลยหรือ ใจร้ายเกินไปไหม
นายคำนูณกล่าวถึงความไม่ชัดเจนของรายได้ว่า การจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2556 นี้ได้ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรไว้ 2.51 ล้านล้านบาท หักการคืนภาษีแล้วคงเหลือรายได้สุทธิ 2.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลไม่ได้แจกแจงที่มาของการจัดเก็บลงลึกไปในแต่ละภาคเศรษฐกิจ แต่จากการยืนยันเป้าหมายตัวเลขขยายตัวการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ต้นปี ก่อน 2 สัปดาห์ที่แล้วที่ท่านยอมรับว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่จริง แต่ต้องพูด เป็น White lie นั้น ก็ยังพอเชื่อได้ว่ารัฐบาลประมาณการว่าการส่งออกของประเทศจะเพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 15 ตัวเลขนี้น่าจะเป็นฐานในการคำนวณประมาณการรายได้
ตัวเลขร้อยละ 15 นี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ประเด็น White lie ของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่าทำได้หรือไม่ สื่อสารเข้าใจผิดกันยังไงหรือไม่ ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 หรือไม่ นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะพูดในเวทีนี้วันนี้ แต่ถ้าท่านรองนายกฯจะถือโอกาสใช้เวทีนี้ชี้แจง ก็จะเป็นเกียรติแก่วุฒิสภา
ประเด็นที่ตนจะพูด มีสมาชิกท่านหนึ่ง (อนุรักษ์ นิยมเวช) หยิบยกขึ้นมาเมื่อเช้า เพราะรายได้จากการส่งออกคิดเป็นร้อยละประมาณ 70 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งจะส่งผลกระจายลงไปยังภาคอุตสาหกรรม และต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคเกษตรกรรม
เมื่อรัฐมนตรีคลังยอมรับความจริงและปรับเป้าลดลงเหลือร้อยละ 9 ในขณะที่หน่วยงานของกระทรวงการคลัง คือ สศค. ประมาณการตัวเลขเพิ่มล่าสุดไว้เพียงร้อยละ 5.6-7 และวันสองวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมกัน และจะมีตัวเลขประมาณการออกมาที่ไม่เกินร้อยละ 7 ผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออกจะทำให้รัฐเก็บภาษีอากรได้น้อยลงเท่าไร และจะกระทบต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาลหรือไม่ หรือว่าการขึ้นภาษีบาปเมื่อไม่กี่วันมานี้ครอบคลุมแล้ว ขอคำชี้แจงให้ชัดเจนกว่านี้
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นหรือไม่ ที่รัฐบาลนี้ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ พยายามเสนอแนวคิดวนเวียนอยู่กับทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่าเป็นเงินออมของประเทศบ้าง ว่ามีเก็บไว้มากไปบ้าง ว่าขณะนี้ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าบ้าง สมควรนำมาลงทุนในรูปการต่างๆ ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) บ้าง ไปซื้อบ่อน้ำมันบ้าง ให้เอกชนกู้ไปซื้อเครื่องจักรบ้าง หรือล่าสุดก็ให้นำมาลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.07 ล้านล้านบาทบ้าง แม้จะไม่ได้ประกาศชัดเจนเป็นทางการ แต่ก็พอจับเค้าลางได้ว่ามีแนวคิดที่จะให้รัฐบาลออกพันธบัตรเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐให้แบงก์ชาติถือไว้ แล้วนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมา แทนที่จะออกเป็นพันธบัตรเงินบาท ระดมเงินบาทมา แล้วไปแลกทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาตามปรกติ
“อยากขอให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่ารัฐบาลมีแผนที่จะดึงทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ตามที่ประธาน กยอ.ก็ดี หรือประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก็ดี พูดไว้ต่างกรรมต่างวาระ หรือไม่ และถ้าใช่ จะดึงทุนสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้เสียวินัยการเงินและการคลัง หรือทำให้เห็นว่ารัฐบาลผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายการคลังกำลังเข้าไปแทรกแซงและครอบงำการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ และ กนง.โดยตรง”
ประเด็นทุนสำรองระหว่างประเทศสำคัญมาก ทั้งด้านหลักการ และวิธีการ
หลักการ - ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นความมั่งคั่งของประเทศจริงหรือ เป็นเงินออมของประเทศจริงหรือ รัฐบาลบอกว่าใช่ แบงก์ชาติบอกว่าไม่ใช่
วิธีการ - หากนำออกมาใช้อย่างขัดหลักการ จะไม่ต่างจากรัฐบาลบังคับให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินบาทออกมาให้รัฐบาลใช้ลงทุน ซึ่งจะสร้างความเสียหายมหาศาลในอนาคต
นอกจากนั้น การที่รัฐมนตรีคลังและประธานกยอ.ที่เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติอยู่ด้วย ได้ออกมาพูดว่าต้องการให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง โดยเฉพาะคำกล่าวของรัฐมนตรีคลังเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 ที่ถือว่าเป็นวาทะประวัติศาสตร์ที่ว่า...
“ผมไม่มีหน้าที่เถียวกับแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผม และเถียงให้น้อยลง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง เพราะผมไม่ใช่แค่รัฐมนตรีคลัง แต่ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจด้วย...”
นั่นก็เพราะรู้อยู่แล้วว่านอกจากจะต้องกู้เพิ่มอีกเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาทในรอบ 5 ปีจากนี้ รวมกับการกู้ 3.5 แสนล้านบาทภายในมิถุนายน 2556 และอาจจะต้องกู้เพิ่มอีกเพราะปิดหีบงบประมาณไม่ได้เพราะรายได้จากการเก็บภาษีจะไม่เป็นไปตามประมาณการเพราะรายได้จากการส่งออกลดลง การที่รัฐบาลจะระดมกู้เงินจากตลาดเงินขนานใหญ่ย่อมส่งผลกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับตัวสูงขึ้นโดยธรรมชาติ รัฐบาลจึงชิงสร้างวาทกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าไว้ดักหน้าใช่ไหมว่ารัฐบาลต้องการให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมากกว่านี้แต่แบงก์ชาติไม่ทำตาม หรือคิดเห็นต่าง
ประเด็นนี้ เรื่องแทรกแซงครอบงำนโยบายการเงินหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่อาจสำคัญกว่าคือ รัฐบาลย่อมรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีทางลดต่ำลงตามที่รัฐบาลต้องการอย่างง่ายๆ ต่อให้แบงก์ชาติเป็นเด็กดี เชื่อฟังรัฐบาล เพราะแบงก์ชาติมีเครื่องมือเพียงอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ซึ่งแบงก์พาณิชย์ไม่จำเป็นต้องทำตามเสมอไป แต่จะดูดีมานด์-ซัปพลายโดยรวมในตลาดเงินมาประกอบการตัดสินใจ
“รัฐบาลกำลังเป็นผู้สร้างดีมานด์ตัวใหญ่เบ้อเริ่มในรอบ 5 ปีจากนี้ โดยธรรมชาติก็เท่ากับทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่ลดลงอย่างที่ต้องการ อันที่จริง รัฐบาลนั่นแหละจะเป็นผู้ทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่ลดต่ำลงตามอัตราที่รัฐมนตรีคลังต้องการ หรืออาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตในรอบปีสองปีข้างหน้าด้วยซ้ำ”
นายคำนูณกล่าวต่อว่า นอกจากเหตุผลประการสำคัญที่รัฐบาลกำลังสร้างดีมานด์มหาศาลขึ้นมาเองจากแผนการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.07 ล้านล้านบาท โครงการป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน และอาจจะต้องกู้ปิดหีบงบประมาณเพราะรายได้ไม่เป็นตามประมาณการอีก ยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือรัฐบาลได้ทำให้ต้นทุนของแบงก์พาณิชย์ และแบงก์รัฐเพิ่มขึ้น จากการโอนภาระการชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูมาให้ โดยเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
“ยังจำ พ.ร.ก.ปรับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯเมื่อต้นปีได้นะครับ หรือว่ารัฐบาลก็รู้อยู่แล้ว เพียงแต่สร้างวาทกรรมเตรียมการเสกแบงก์ชาติให้เป็นแพะเท่านั้น”
เพราะในอีกด้านหนึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น นอกจากจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลแล้ว ยังทำให้เอกชนต้องกู้เงินแพงขึ้น รัฐบาลจะคาดหวังให้เอกชนลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ผลที่ออกมาจะไม่เป็นการหักล้างกันเองระหว่างการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐกับการหดตัวของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหรือ รัฐบาลประกาศอย่างหนึ่ง แต่อาจได้ผลอีกอย่าง
เพราะการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะมีดีมานด์ที่ยกมาจากปีที่แล้วที่ส่งมอบไม่ทันเพราะเหตุมหาอุทกภัย อาทิ ดีมานด์รถยนต์นั่ง เมื่อพ้นระยะโปรโมชันแล้วจะทำอย่างไร รัฐบาลคงไม่สามารถต่อโปรโมชันออกไปได้ทุกปี หรือว่ารัฐบาลซึ่งล้วนแต่เป็นกูรูทางเศรษฐศาสตร์เล็งเห็นอยู่แล้ว จึงได้สร้างวาทกรรมดักทางสารพัดที่พุ่งเป้าไปยังแบงก์ชาติ หรือว่าแบงก์ชาติกำลังจะเป็น “แพะตัวใหญ่” ในอนาคต