xs
xsm
sm
md
lg

ด่วน! ประเทศไทยใกล้เจ๊งแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้รายงานตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ประมาณ 4.79 ล้านล้านบาท โดยคำนวณว่าหนี้สาธารณะดังกล่าวนั้นคิดเป็นร้อยละ 43.34 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP)

นี่เป็นตัวเลขตั้งต้นที่น่าห่วงใยในวันข้างหน้าอยู่ไม่น้อย

หนี้สาธารณะ แท้จริงแล้วก็คือหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงทั้งในประเทศหรือจากต่างประเทศ รวมกับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และยังรวมไปถึงหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ได้ค้ำประกันในรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และหากจะรวมถึงหนี้รัฐวิสาหกิจที่สถาบันการเงินแล้วก็จะนับส่วนที่รัฐบาลค้ำประกันหนี้เท่านั้น

เพราะงบประมาณปี 2556 แล้วหากจะนับรวมการกู้เงินเพื่อการขาดดุลในงบประมาณ และนอกงบประมาณแล้วประเทศไทยก็น่าจะขาดดุลจริงอีกประมาณ 6.5 แสนล้านบาท หมายความสิ้นปี 2556 เราอาจได้เห็นหนี้สาธารณะทะยานสูงเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 5.4 ล้านล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อรัฐบาลประกาศจะมีแผนการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งใหญ่อีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท ทยอยดำเนินโครงการไปภายใน 6 ปี โดยอาจจะมีการกู้ในช่วงการดำเนินโครงการดังกล่าวอีกประมาณ 1.6 - 2.0 ล้านล้านบาท

นั่นหมายความว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็อาจจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 7.4 ล้านล้านบาท

หากถึงเวลานั้น คิดหัวเฉลี่ยต่อประชากรคนไทย 65 ล้านคน ก็จะมีหนี้สาธารณะแบ่งกันไปคนละประมาณ 113,846 บาท

รัฐบาลมักจะบอกกับประชาชนอยู่เสมอว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทยไม่ได้มีความน่าเป็นห่วงหากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยแล้ว ก็จะพบว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะประมาณ 43% เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้วประเทศไทยในเวลานี้ก็น่าจะอยู่ลำดับที่ 74 ของโลก จากจำนวนทั้งหมด 145 ประเทศ ประเทศไทยก็ยังถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ และดูเหมือนว่าหนี้สาธารณะยังมีน้อย

คำถามจึงมีต่อมาว่าประเทศไทยควรจะพิจารณา “หนี้สาธารณะ” เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเท่านั้น แล้วควรจะสบายใจจริงหรือ?

เพราะหนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาล หากรั่วไหลโกงกินมาก เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโตเฉพาะกระเป๋าของนักการเมืองเพียงไม่กี่คนแบบไม่ต้องเสียภาษี เมื่อเป็นเช่นนั้นการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ แล้วจะไปคืนหนี้อันมโหฬารที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกปีไปได้อย่างไร?

เพราะหนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาล หากไร้ประสิทธิภาพ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และเป็นกิจกรรมที่สร้างขึ้นไปแล้ว ไม่มีผลตอบแทนกลับคืนสู่รัฐอย่างที่ควรจะเป็น รัฐบาลก็ย่อมประสบกับปัญหากระแสการไหลเวียนของกระแสเงินสดในวันข้างหน้า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดล่าสุดในงบประมาณ 2556 ก็คือ รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บสุทธิอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท โดยประมาณการว่าประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2556 อยู่ที่ 12.5 ล้านล้านบาท การจัดเก็บรายได้ของประเทศไทยจึงมีอยู่ประมาณ 16.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม

แต่หากจะนับการก่อหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่ปีหน้าจะมีโอกาสแต่ตัวเลข 5.4 ล้านล้านบาทแล้วการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลไทยในปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 38% ของหนี้สาธารณะ ดังนั้นประเทศไทยถือได้ว่าฐานการจัดเก็บรายได้ฐานแคบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะโดยจากประเทศทั้งหมด 126 ประเทศ ประเทศไทยจะอยู่อันดับประมาณ 78

แต่รายได้สุทธิของรัฐบาลที่จัดเก็บได้ปี 2556 อยู่ที่ 2,100,000 ล้านบาท คงจะยังไม่ถูกนักหากจะนำมาเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือหนี้สาธารณะของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังจะต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และความประหยัดของรัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วย โดยพบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

รายได้สุทธิจากการจัดเก็บของรัฐบาลในปี 2556 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2,100,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำที่ยังไม่นับดอกเบี้ย (เงินเดือน+ค่าน้ำ ค่าไฟ+ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ฯลฯ) ไปแล้วประมาณ 1,773,114 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 84.44% ของการจัดเก็บรายได้สุทธิ

เงินจึงยังเหลืออีกเพียงแค่ 326,886 ล้านบาท (รายได้ 2,100,000 ล้านบาท - รายจ่ายประจำที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย 1,773,114 ล้านบาท)

เงินที่เหลือ 326,886 ล้านบาทนั้น ถือว่าเหลืออีกยังไม่มาก เพราะต้องเอาไปลงทุน ชำระดอกเบี้ย และชำระต้นเงินกู้อีกบางส่วนด้วย

รัฐบาลไทยจึงต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะ 128,797.5 ล้านบาท และเป็นการคืนต้นเงินกู้อีกประมาณ 49,149 ล้านบาท รวมส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้สูงถึง 177,946 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 8.47% ของการจัดเก็บรายได้สุทธิ)

ทำให้รัฐบาลเหลือเงินพอที่จะไปลงทุนได้อีกเพียงแค่ 148,940 ล้านบาทเท่านั้น!!!

หรือคิดให้ตรงประเด็นก็คือ รายได้ที่จัดเก็บมา 2,100,000 ล้านบาท จะเหลือเงินเพียงแค่ 148,940 ล้านบาท คิดเป็น 7.09% ของรายได้สุทธิที่จัดเก็บมาได้เท่านั้นสำหรับการลงทุน นอกนั้นต้องกู้มาเพิ่มได้อย่างเดียว นี่เป็นผลงานของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เน้นนโยบายกู้มาจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่รัฐบาลชุดนี้ต้องการที่จะลงทุนในงบประมาณ 2556 จำนวน 448,938 ล้านบาท และยังลงทุนนอกงบประมาณอีก 350,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินสูงถึง 798,938 ล้านบาท และนั่นเป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาลต้องกู้ในงบประมาณปี 2556 เป็นจำนวนเงิน 300,000 ล้านบาท และเป็นการกู้นอกงบประมาณที่เหลือค้างตามแผนนอกงบประมาณ 2556 อีกประมาณ 350,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 650,000 ล้านบาท

หมายความว่าหากทุกรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อไป ในอีกไม่นานนี้ประเทศไทยก็จะมีหนี้สาธารณะมากขึ้น ดอกเบี้ยและการคืนเงินต้นก็จะสูงขึ้นทุกปี จนในที่สุดเราจะต้องเข้าสู่ภาวะไม่มีเงินสำหรับการลงทุนได้ด้วยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และต้องกู้ได้อย่างเดียว เมื่อเวลาผ่านไปก็จะถึงขั้นต้องกู้เงินมาใหม่มาเพื่อคืนเงินกู้เก่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งล้มละลายทั้งประเทศเหมือนในหลายประเทศในยุโรปในที่สุด

จะโทษรัฐบาลชุดนี้เพียงลำพังก็คงไม่ได้ เพราะตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยทุกยุคได้ใช้นโยบายใช้จ่ายเกินตัวขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด จากที่มีเงินคงคลังมากก็ใช้เงินคงคลังจนแทบหมดสิ้น จากที่เคยมีหนี้สาธารณะน้อยก็มามีหนี้สาธารณะมาก จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้วว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาก็เร่งกู้เร่งใช้จ่ายเพื่อโกงบ้านกินเมือง กอบโกยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่มีใครสนใจว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นไปอย่างไร

ทุกรัฐบาลก็จะอ้างการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความเป็นจริงแล้วการขาดดุลงบประมาณนั้นควรเป็นการขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เอกชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ เกิดการสร้างงาน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจชนิดที่ขาดดุลงบประมาณแบบรั่วไหลไม่ยั้งมือติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปีนั้น ย่อมแสดงว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจล้มเหลว และกลายเป็นข้ออ้างให้นักการเมืองมาโกงบ้านกินเมืองกันทั้งสิ้น

การกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกรัฐบาลในเวลา 15 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ใช้การขาดดุลงบประมาณแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งเสริมการก่อหนี้ให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยังเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดก็เป็นเพราะข้ออ้างที่ว่าเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

แต่คำนิยามที่ว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น อาจไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน เพราะประชาชนมีแต่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นทุกวันจากทุนทางการเมือง ทุนพลังงาน ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีหนี้สินมากขึ้น และอ่อนแอลง เพราะชาติถูกปลุกให้จับจ่ายใช้สอยมากกว่าการส่งเสริมให้ขยัน รู้จักการออมและมัธยัสถ์ซึ่งจะเป็นอุปนิสัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในระยะยาว

แค่คิดไปไกลต่อว่าหากประเทศไทยถึงขั้นต้องถังแตกและล้มละลายเพราะนโยบายมือเติบใช้จ่ายแบบบ้าคลั่งเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผลก็คือวันหนึ่งรัฐบาลก็ต้องเพิ่มภาษีจัดเก็บจากประชาชนหรือนักธุรกิจเพิ่มเติมมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องมีการขายทรัพย์สินและหุ้นที่เป็นรัฐวิสาหกิจมากขึ้นไปอีก และอาจถึงขั้นขายอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ก็ได้ เพียงแค่เห็นอนาคตเช่นนี้แล้ว ก็คาดการณ์ได้เลยว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปล้นและผลาญประเทศนั้น ก็คงจะเป็นกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวพันกับพลังงาน, อสังหาริมทรัพย์, การเกษตร, ฯลฯ

หรือเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือการนำเงินคลังหลวง ที่หลวงตามหาบัวได้ปกป้องเอาไว้นำมาผลาญให้หมดสิ้น

การปล้นและผลาญประเทศตลอดเวลาที่ผ่านนั้น อาจไม่ใช่แค่ความโลภเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ Thailand for Sale คือ การขายทอดตลาดให้กลุ่มทุนในประเทศและต่างประเทศได้เข้ามาปล้นโดยถูกกฎหมายอีกครั้ง

แต่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ถูกกระแสสื่อปกปิดความจริงในเรื่องเหล่านี้ เวลาเกิดวิกฤตทีไรก็จะรู้ตัวเมื่อสายทุกครั้งไป แม้แต่สถานการณ์เรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากดูให้ถ่องแท้ก็จะเห็นได้ว่าแม้ตัวอย่างวิกฤตปี 2540 ก็ยังทำให้คนไทยจำนวนมากต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจนถึงทุกวันนี้ แถมยังต้องใช้พลังงานแพงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังถูกปั่นหัวให้เลือกข้างขั้วการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่เหมือนเดิม

ความจริงหากรัฐบาลไทยคิดมีการปฏิรูปพลังงานเสียใหม่ ให้มีผลตอบแทนรัฐสูงสุด และให้ผลตอบแทนกลับไปยังประชาชนอย่างเหมาะสม ประเทศไทยก็คงมีความสามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้มากขึ้น ปัญหาด้านการคลังก็คงไม่มี และประเทศชาติคงจะมั่งคั่งได้มากกว่านี้อีกมาก แต่นักการเมืองทุกพรรค ทุกขั้ว ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร ต่างก็ไม่เคยสนใจในเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเหล่านี้

ด้วยเหตุผลนี้คนไทยจึงควรตระหนักกันเสียทีได้แล้วว่า การต่อสู้ที่หลงไปกับขั้วอำนาจทางการเมืองในเวลานี้ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของประชาชน ดังนั้นการแบ่งการต่อสู้จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งเส้นเพียงแค่ “ฝ่ายทักษิณ” กับ “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” เท่านั้น เพราะนั่นเป็นการต่อสู้เพื่อขั้วอำนาจทางการเมืองที่ไม่เหลียวแลประชาชน ไม่สนใจอนาคตของชาติ สนใจแต่จะกอบโกย โกงกิน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องพอๆ กันทั้งสิ้น

การแบ่งเส้นในวันนี้จึงอาจจะต้องขีดเส้นเสียใหม่ จากเดิมที่มีคนบางกลุ่มขีดเส้นใน “แนวตั้ง”ระหว่าง “ฝ่ายทักษิณ” กับ “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” ให้มาเป็นการขีดเส้นใน “แนวนอน”ระหว่าง “ผลประโยชน์ของนักการเมืองที่ชั่วร้าย” กับ “ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” น่าจะถูกต้องมากกว่า

ส่วนนักการเมืองคนใด หรือขั้วใด หรือแม้แต่ทหาร หากคิดแต่เพียงจะช่วงชิงอำนาจหรือรักษาอำนาจเพื่อตักตวงกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนแล้ว ก็ให้คิดเสียว่าเป็นการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจ หรือรักษาอำนาจ ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ประชาชนไม่ควรจะไปสนับสนุนและยุ่งเกี่ยวด้วย แต่ก็ควรจะเคลื่อนไหวต่อต้านในเชิงประเด็นเพื่อให้ประชาชนเห็นความชัดเจนและความแตกต่างระหว่างผลประโยชน์ของนักการเมืองกับผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น

แต่หากนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นคนใด ขั้วใด หรือแม้แต่ทหาร หากกลับใจคิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองโดยยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว ก็ให้ถือว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ควรสนับสนุนในการกระทำนั้นเช่นกัน!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น