xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาถกร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 56 “กิตติรัตน์” นำทีม รมต.แจง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” นำทีม รมต.แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 56 ต่อวุฒิสภา ขณะที่ ส.ว.ชี้รัฐบาลจัดการไม่ดีก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม ตัวแทนวิปวุฒิฯ ซัดสภาลำเอียงอนุมัติเพียงงบตัวเอง แนะทบทวนโครงการตั้ง สนง.รัฐสภาประจำจังหวัด ติงระบบ รปภ. พร้อมแฉแรงงานต่างด้าวบุกทำงานในสภา ด้าน รมช.คลัง คาดปี 59 จัดงบสมดุล

ที่รัฐสภา วันนี้ (3 ก.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา ซึ่งมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน ได้พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ตามมาตรา 168 วรรคสาม วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เข้าร่วมรับฟังและชี้แจงด้วย

โดยนายนิคมได้แจ้งต่อสมาชิกว่า การอภิปรายวันแรกจะแบ่งกลุ่มตามภารกิจการชี้แจง 5 กลุ่มตามลำดับ ประกอบด้วย หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ ด้านสังคม ด้านบริหาร ด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) และวิปวุฒิสภารวม 24 คณะอภิปรายคณะละไม่เกิน 30 นาที ส่วนวันที่ 4 ก.ย.จะเป็นการอภิปรายในภาพรวมตามมาตรา 3 โดย ส.วที่ประสงค์จะอภิปรายจะต้องลงชื่อไว้ภายในเวลา 12.00 น.ของวันนี้ เพื่อจะได้จัดลำดับการอภิปรายต่อไป

ม.ล.ปรียาพรรณ ศรีธวัช ส.ว.สรรหา ตัวแทน กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่า ในปี 2556 รัฐบาลประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2.11 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 16.7 ของจีดีพี ทั้งนี้เมื่อมาหักลบกับงบประมาณฯ ปี 2556 ที่อยู่ 2.4 ล้านล้านบาท แล้วจะเป็นงบฯ ขาดดุลจำนวน 3 แสนล้านบาท กังวลว่าหากรัฐบาลขาดการจัดการที่ดีอาจทำให้ตัวเลขขาดดุลดังกล่าวกลายเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า กรณีที่รัฐบาลจัดสรรเงินเพื่อช่วยเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระการขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาท แม้จะเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายให้รอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นภาระกับการบริหารงบประมาณของรัฐบาลในปีต่อๆ ไป และกลายเป็นหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องหาเงินมาใช้หนี้ส่วนดังกล่าวในอนาคต

ม.ล.ปรียาพรรณกล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการหนี้สาธารณะและการบริหารงบประมาณ ในส่วนการแก้ปัญหาอุทกภัย รัฐบาลต้องวางแนวทางจัดการให้ดี โดยมีข้อเสนอแนะคือ งบประมาณเพื่อลงทุนป้องกันอุทกภัยจากการกู้จำนวน 3.5 แสนล้านบาท ไม่มีการแสดงรายละเอียดต่อรัฐสภา ดังนั้น หากรัฐบาลบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพจะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ และอีกด้านงบประมาณส่วนดังกล่าวจะกลายเป็นหนี้สาธารณะที่ทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศต้องแบกรับ โดยรัฐบาลต้องกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ดังกล่าวทุกปีจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนา ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. 2555 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 3.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท และมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน

อีกทั้งรัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มจากนโยบายของรัฐบาลเอง และจากการลงทุนและการบริหารจัดการ หากรัฐบาลใช้งบเพื่อการลงทุนเกินกำลังจะทำให้ความสามารถชำระหนี้ลดลง กลายเป็นภาระผูกมัดรัฐบาลและประเทศที่ต้องชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินกู้ ไม่สามารถหาเงินมากพอเพื่อชำระต้นเงินกู้ได้ ดังนั้นรัฐบาลควรวางแผนบริหารงบประมาณอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้แบกรับภาระหนี้เกินกำลัง และป้องกันไม่ให้ประเทศเจอปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา และกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณในส่วนของรัฐสภาที่ได้รับจำนวน 8.5 พันล้านบาท 8 โดยแบ่งเป็น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จำนวน 1,497,959,100 บาท, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 6,658,982,900 และสถาบันพระปกเกล้า จำนวน 396,426,400 บาท โดยตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งสำนักงานรัฐสภาประจำจังหวัดจำนวน 6 แห่งด้วยงบประมาณ 18 ล้านบาท โดยมีภารกิจงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเผยแพร่ประชาธิปไตย การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ดังนั้นจึงอยากให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว เพราะงบดังกล่าวแค่เป็นโครงการนำร่องหากกระจายทั่วประเทศจะต้องใช้งบถึง 100-1000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การตั้งงบประมาณรายการเดียวกันที่สภาผู้แทนราษฎรขอไปได้รับการอนุมัติ ขณะที่วุฒิสภากลับถูกตัดงบฯ จำนวนกว่า 28 ล้านบาท ไม่ทราบว่าใช้พื้นฐานหรือหลักการใดในการพิจารณา ขนาดเราเป็นวุฒิสภายังไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วประชาชนจะหาความยุติธรรมได้อย่างไร ประธานวุฒิสภาจะต้องหารือกับประธานสภาฯ ในเรื่องนี้

“การจัดทำงบประมาณและการบริหารงานของรัฐสภาที่ผ่านมาถือว่ามีความเป็นอิสระ แต่สิ่งที่ขาดหายคือวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของวุฒิสภา อยากให้รื้อฟื้นถึงยุทธศาสตร์ที่ได้เคยวางไว้ เพื่อให้งานได้เดินหน้าไปตามเป้าหมาย และตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งวุฒิสภา และสภาฯ ก็เป็นงานที่ซ้ำซ้อนเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ สภาฯ ควรทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก วุฒิสภาตรวจสอบในเชิงนโยบาย จึงอยากให้วิปทั้ง 2 สภาได้หารือกัน ทั้งนี้ผมขอท้วงติงเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยในรัฐสภายังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการอาหารในบริเวณรัฐสภากลับมีแรงงานต่างด้าวให้บริการด้วย ผมไม่รู้ว่าถูกกฎหมายหรือไม่แต่ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐสภาเป็นศูนย์กลางของอำนาจ”

จากนั้น นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ชี้แจงว่า จากการอภิปรายของ ส.ว.ที่กังวลเกี่ยวกับตัวเลขหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีแผนงานทำให้เกิดความสมดุลในเรื่องงบประมาณ โดยในปี 2556 ที่จัดสรรงบแบบขาดดุลจำนวน 3 แสนล้านบาท โดยปีต่อๆ ไปจะลดการขาดดุลลงปีละ 1 แสนล้านบาทโดยตั้งเป้าว่าจะมีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้ในปี 2559 ซึ่งจะทำให้ขาดจากการเป็นหนี้สินในปีเดียวกันนั้น นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณด้วยความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ขณะมีร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนภาครัฐ (พีพีพี) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะพิจารณาแล้วเสร็จ เพื่อมีผลบังคับใช้ให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ และเอกชน โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น