xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ:การขายหนี้ด้อยคุณภาพกับกฎหมายและความเป็นธรรม ในระบบศาลไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2541 เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศมาก่อน สิ่งที่ตามมาก็คือรัฐออกกฎหมายเพื่อมารองรับให้แก่การขายหนี้ ป.ร.ส. ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศเสียค่าโง่ไปเป็นเงินถึง 1.4 ล้านล้านบาทกลายเป็นหนี้สาธารณะกระจายให้คนไทยถ้วนหน้าและยังหมักหมมอยู่จนถึงปัจจุบัน ผู้บริหาร ป.ร.ส. ก็ยังโดนคดีความอยู่จนถึงปัจจุบันเช่นกัน เกิดความเสียหายต่อภาคธุรกิจและมีผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวพันเสียหายมากกว่ายอดเงินดังกล่าวมากนักโดยรัฐมิได้สนใจที่จะรวบรวมความเสียหายออกมาให้เห็นชัดเจน หลังจากนั้นก็มีการออก พรก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อช่วยให้ธนาคาร, บริษัทเงินทุน, เครดิตฟองซิเอร์ ต่างๆ สามารถขายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปได้อีก ตามด้วยดาบสามคือการออกพรก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย 2544 เพื่อดูดหนี้เน่าโดยเฉพาะจากธนาคารของรัฐเข้ามาบริหารมูลค่าอีกประมาณ 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งผลงานคือทำให้มีบุคคลและนิติบุคคลล้มละลายไปอีกนับหมื่นราย
การโอนซื้อขายหนี้เหล่านี้ต้องเกี่ยวพันกับกระบวนการยุติธรรมอย่างช่วยไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจนลุกลามกลายเป็นคดีความที่ลูกหนี้ต้องลุกขึ้นฟ้องดำเนินคดีอาญากับผู้พิพากษาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้(อ่าน “ ลูกหนี้ฟ้องอธิบดี-ผู้พิพากษา สุดทนถูก บ.ต่างชาติสูบเลือด” : http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9550000071602&CommentReferID=21437840&CommentReferNo=3&TabID=1& ) มีข้อเท็จจริงและประเด็นที่สมควรให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันแก้ไขเพราะตราบใดที่ประเทศยังอยู่ในระบบทุนนิยม การหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ระบบทุนนิยมเชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจย่อมทำได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมจึงต้องร่วมกันระแวดระวังแสวงหาความสมดุลระหว่างนายทุนอันได้แก่ ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์ ไปจนถึงนายทุนนอกระบบกับผู้กู้ยืม (ลูกหนี้) โดยจะต้องมีการกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายกับนายทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกับการบังคับใช้กับลูกหนี้ซึ่งก็คือประชาชนคนธรรมดาเนื่องจากประเทศไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างบูรณาการมีเพียงการพักหนี้การให้แหล่งเงินกู้เพิ่ม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายโดยแต่ละหน่วยมิได้เชื่อมโยงกัน
ตัวอย่างปัญหาคดีที่เกิดขึ้นนั้นสืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้มีปลอมแปลงเอกสารนำขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์อันมิชอบ สมควรยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์และเตือนลูกหนี้ให้ตรวจสอบระมัดระวังป้องกันเพื่อช่วยเหลือตนเองเสียก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย ได้แก่
เรื่องของพยานเอกสาร กฎหมายกำหนดให้ศาลรับฟังพยานเอกสารตามต้นฉบับจริงยกเว้นจะอนุญาตให้ใช้สำเนาได้หากคู่ความไม่คัดค้าน แต่พบว่าศาลอาจไม่บังคับใช้กรณีดังกล่าวอย่างเสมอภาคกัน เช่น ที่ศาลล้มละลายกลางยินยอมให้เจ้าหนี้สามารถใช้สำเนาเอกสารได้โดยไม่ต้องจัดส่งต้นฉบับจริงมาตรวจสอบ จนเป็นที่มาให้เจ้าหนี้ทุจริตเห็นเป็นช่องว่างกล้าที่จะปลอมแปลงตัดต่อเอกสารได้ตามใจชอบอันเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดคดีฟ้องร้องต่อมา ส่วนลูกหนี้นั้นยิ่งไม่มีโอกาสเลยที่จะทราบได้ว่าเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งให้ศาลนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่เพราะไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย เช่น สัญญาซื้อขายหนี้ซึ่งจะเซ็นกันระหว่างเจ้าหนี้เดิมและผู้รับซื้อหนี้คนใหม่ และลูกหนี้ก็ไม่เคยที่จะดิ้นรนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพราะมีความคาดหวังว่าหน่วยงานของรัฐจะมีส่วนช่วยตรวจสอบ
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายหนี้เน่าของบริษัทบริหารสินทรัพย์
1.) ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ออกใบอนุญาตบริษัทบริหารสินทรัพย์ (ค่าธรรมเนียม 100,000 บาท)
2.) ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้การซื้อขายหนี้ด้อยคุณภาพทุกครั้งจะต้องรายงานหลังจากมีการซื้อขายแล้วภายใน 30 วัน
ปัญหามีอยู่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบเรื่องสัญญาซื้อขายหนี้อย่างละเอียดรอบคอบจริงว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่หรือปล่อยให้เป็นธุรกรรมของฝ่ายซื้อขายกันเอง
3.) ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้มีการรายงานการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นระยะ ซึ่งหากมีการตรวจสอบอย่างละเอียดย่อมจะต้องทราบผลการดำเนินงาน ผลกำไร การเสียภาษีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้
4.) นิติบุคคลที่จะได้รับอนุญาตเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องเป็นนิติบุคคลไทยซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นที่น่าเสียใจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วางกรอบไว้ว่าการตรวจสอบการเป็นบริษัทต่างด้าวนั้นให้ตรวจเพียงชั้นเดียวโดยไม่สอบว่ามีการเป็นนอมินีถือหุ้นซ้อนเพื่อประโยชน์ของต่างด้าวหรือไม่
5.) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นมหาชนจะต้องถูกควบคุมดูแลจาก กลต. ด้วยในฐานะที่มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น
ปัญหาที่พบก็คือเมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นมีศักดิ์และสิทธิถือเป็นสถาบันการเงินจะต้องอยู่ภายใต้ พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ด้วย พบว่าการบริหารบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถถูกครอบงำได้โดยปราศจากการตรวจสอบเช่น เช่น กรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ถือหุ้นเกินร้อยละ 10, บางบริษัทฯ กรรมการและผู้เกี่ยวข้องถือหุ้นเกินไปถึงร้อยละ 40 ก็ยังไม่เห็นมีใครจัดการ รวมทั้งกฎหมายกำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจของสถาบันการเงินจะต้องเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ยกเว้นขออนุญาตจากกระทรวงการคลังแต่ชาวต่างชาติก็ถือหุ้นได้สูงสุดเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น แล้วบริษัทบริหารสินทรัพย์มีชาวต่างชาติเป็นกรรมการทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อชาวต่างชาติมาบริหารสถาบันการเงินไทย การบริหารองค์กรที่เรียกกันว่าธรรมาภิบาลเกิดขึ้นไม่ได้เพราะต่างทั้งวัฒนธรรม จารีตประเพณี และข้อกฎหมาย ต่างชาติก็คิดเพียงสูบเลือดมิได้คิดทำธุรกิจให้ถาวรได้ผลประโยชน์เสร็จก็หอบเงินกลับบ้านและเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้าครอบงำธุรกิจทางการเงินซึ่งกฎหมายห้ามไว้เพราะกระทบกับประชาชนจำนวนมากแต่ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพากันหลับหูหลับตาไม่เรียกว่าร่วมกันปล้นประชาชนแล้วเรียกว่าอะไร
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวลูกหนี้จึงไม่ควรหลงผิดคิดว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ ลูกหนี้จะต้องคัดค้านเอกสารสำเนาทุกฉบับของเจ้าหนี้โดยให้นำต้นฉบับจริงมาส่งศาลเท่านั้นเพื่อตรวจเอกสารเจ้าหนี้ทุกฉบับว่าถูกต้องตรงกับสำเนาที่ยื่นฟ้องหรือไม่ สิ่งสำคัญมีหลักฐานอย่างไรว่าการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพนั้นรวมหนี้ของลูกหนี้ด้วย หากสัญญาซื้อขายเป็นภาษาอังกฤษเจ้าหนี้จักต้องแปลภาษาไทยตามที่กฎหมายกำหนดส่งศาลขอให้ตรวจว่าแปลตรงกันหรือไม่ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติพบว่ามีการแปลเอกสารสัญญาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไม่ตรงกันกระทำ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ควบคุมเกือบทุกบริษัทโดยเฉพาะประเด็นของราคาซื้อทรัพย์ที่จะมีการจงใจปิดบังหรืออาจจะถึงปลอมแปลง
ในทางกลับกันพบว่าศาลล้มละลายกลางให้เจ้าหนี้ใช้สำเนาเอกสารดำเนินคดีต่อไปทั้งที่ลูกหนี้ได้คัดค้านว่าไม่มีต้นฉบับเอกสารจริง ในขณะที่หากลูกหนี้จะอ้างเอกสารต้องใช้ต้นฉบับเอกสารต้องยืนยันที่มาที่ไปเคยมีศาลล้มละลายกลางไม่เชื่อบัญชีลูกหนี้รายตัว Customer Statement ที่ธนาคารพิมพ์ให้ลูกหนี้เองถึงขนาดลูกหนี้ต้องล้มละลายทั้งที่ชำระหนี้ครบถ้วนจนหนี้ค้างปรากฏหรือเป็นศูนย์แล้ว
ดังนั้นลูกหนี้ต้องร้องขอให้ศาลให้ความเสมอภาคและมาตรฐานเดียวกันเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและต้องให้เจ้าหนี้นำเอกสารต้นฉบับจริงมาศาลให้ได้เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เลิกหลงเชื่อเจ้าหนี้เหล่านี้เพราะเขาเป็นเพียงบริษัทบริหารสินทรัพย์เงินทุนจดทะเบียนเพียง 25 ล้านบาท ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติเมื่อทำอะไรผิดแล้วก็หนีกลับประเทศได้อย่างลอยนวล ลูกหนี้จับได้ว่าปลอมเอกสารฟ้องคดีอาญา ศาลท่านก็จำหน่ายคดีไว้รอฟังคำพิจารณาในศาลล้มละลายกลางเสียก่อน คนผิดก็ปร๋อออกนอกประเทศไปแล้ว เป็นลูกหนี้ไทยนั้นต้องทำใจหลายประการ ดีที่สุดหากท่านพ้นจากการเป็นหนี้สินได้แล้ว หยุดกู้ยืมทุกชนิดจะปลอดภัยเป็นที่สุด

เรื่องของหนังสือมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วง
บริษัทบริหารสินทรัพย์จะใช้ใบมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงอย่างละ 1 ฉบับติดอากรแสตมป์ฉบับละ 30 บาท ใช้ฟ้องลูกหนี้นับพันคนโดยไม่นำหนังสือมอบอำนาจต้นฉบับจริงมาแสดงซึ่งใบมอบอำนาจนั้นอาจเป็นเท็จก็ได้ กรณีดังกล่าวเป็นช่องว่างที่หากพนักงานของเจ้าหนี้ทุจริตเรียกรับสินบนจากลูกหนี้และลูกหนี้ปฏิเสธก็อาจส่งกรณีของลูกหนี้ให้ทนายความฟ้องล้มละลายแล้วย้อนกลับมาข่มขู่ขอเงินจากลูกหนี้ได้ ทั้งที่กรรมการบริษัทฯ เหล่านั้นไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่าพนักงานระดับล่างอาจนำหนังสือมอบอำนาจ-มอบอำนาจช่วงไปถ่ายสำเนาฟ้องลูกหนี้หาเงินเข้ากระเป๋ามาเท่าไรแล้ว ดังนั้นหากศาลไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ใช้ใบมอบอำนาจครอบจักรวาลดำเนินการฟ้องลูกหนี้เป็นพันคนแบบนี้ก็น่าจะช่วยให้เกิดความชัดเจนระดับหนึ่งว่าการอนุมัติฟ้องลูกหนี้นั้นได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้มีอำนาจของเจ้าหนี้แล้วอย่างแท้จริง
ในขณะที่คู่ความที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินแต่เป็นประชาชนคนธรรมดาจะทำหนังสือมอบอำนาจนั้นจะต้องระบุรายละเอียดแต่ละครั้งแต่ละเรื่องรวมทั้งต้องเอาต้นฉบับใบมอบอำนาจติดไว้กับเรื่องที่เสนอต่อหน่วยงานต่างๆ หากจะทำเรื่องใหม่ก็ต้องทำหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดของรัฐ ใบมอบอำนาจก็จะต้องมีขอบเขตชัดเจนและใช้ได้ครั้งเดียว แต่ในศาลใบมอบอำนาจ-ใบมอบอำนาจช่วงฉบับเดิมของเจ้าหนี้สามารถใช้ได้กับลูกหนี้ทุกคนโดยไม่ต้องนำต้นฉบับจริงมาแสดง ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ช่วยอนุเคราะห์เจ้าหนี้ในหลากหลายแง่มุม แม้แต่ค่าอากรแสตมป์ก็ยังประหยัดกว่าประชาชน !!!
ดังนั้นจึงขอให้ลูกหนี้ตรวจต้นฉบับจริงของใบมอบอำนาจทุกฉบับทุกชนิด ในขณะเดียวกันหากเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐ ลูกหนี้ควรจะต้องตรวจสอบรายงานการประชุมที่ผู้บริหารอนุมัติให้ฟ้องล้มละลายลูกหนี้รายนั้นเพื่อตรวจสอบว่ามีคำสั่งให้มีการฟ้องลูกหนี้จริงหรือไม่
บริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องล้มละลายลูกหนี้โดยอ้างหนี้ตามคำพิพากษาทั้งที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน แล้วอ้างว่าเข้าข้อสันนิษฐานลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
บริษัทบริหารสินทรัพย์นำหนี้ตามคำพิพากษามาคำนวณดอกเบี้ยคงค้างตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาหลังวิกฤติต้มยำกุ้งประมาณปี 2541-2542 จนถึงวันฟ้องล้มละลาย มาฟ้องลูกหนี้ล้มละลายในปี 2555 รวมเป็นเวลา 11 – 13 ปี คิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดร้อยละ 18 – 19 ดอกเบี้ยก็จะประมาณ 3 เท่าของเงินต้น (ถึงแม้ในความเป็นจริงจะซื้อหนี้มาน้อยนิดและมีต้นทุนดอกเบี้ยเพียงไม่กี่เดือน) โดยยืนยันว่าเป็นตามคำพิพากษาและดำเนินการตาม พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ที่ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้
ตัวอย่างเช่นคำพิพากษากำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่จะกำหนดไว้ว่าให้ชำระตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระหนี้เสร็จสิ้น และหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์สินจำนองค้ำประกันออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นๆ ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันออกชำระหนี้จนเสร็จสิ้น
แต่บริษัทบริหารสินทรัพย์ยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนบังคับของคำพิพากษาโดยไม่นำทรัพย์ค้ำประกันออกขายทอดตลาด กลับนำราคาประเมินของกรมธนารักษ์ที่มีวัตถุประสงค์การประเมินไว้ใช้เสียภาษี มิใช่ไว้ใช้อ้างอิงราคาซื้อขายมาคำนวณหักจากหนี้ที่คำนวณรวมดอกเบี้ยปรับผิดนัดเป็นสิบปีแล้วก็ระบุว่าเป็นข้อวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งลูกหนี้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันลูกหนี้มีมูลค่าตลาดเท่าใดซึ่งก็จะเป็นภาระที่ลูกหนี้จะต้องควักกระเป๋าประเมินราคาที่ดินของตนเองอีก แม้นจะพิสูจน์ได้แล้วลูกหนี้ก็ใช่ว่าจะยิ้มออกเพราะเคยมีคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางที่วินิจฉัยว่าถึงแม้นทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้จะมีมูลค่าสูงกว่ายอดหนี้คงค้างแต่ทรัพย์นั้นเป็นของผู้ค้ำประกันไม่ใช่ของลูกหนี้จึงให้ลูกหนี้ล้มละลายไปทั้งที่ในข้อเท็จจริงหากเจ้าหนี้นำทรัพย์ค้ำประกันขายทอดตลาดก็จะได้เงินเพียงพอมาชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็ไม่ต้องล้มละลายแล้วเหตุใดเจ้าหนี้จึงไม่นำทรัพย์ขายทอดตลาดตามคำบังคับคำพิพากษาให้เสร็จสิ้น
ดังนั้นจึงมีคำถามว่าเหตุใดศาลล้มละลายจึงมิให้เจ้าหนี้ทำตามคำพิพากษาที่เป็นขั้นตอนบังคับของศาลอื่นให้เสร็จสิ้นเสียก่อนนำหนี้มาฟ้องล้มละลายลูกหนี้โดยคาดเดาหยิบยกราคาประเมินที่ผิดวัตถุประสงค์มาอ้างอิงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามกฎหมายและความเป็นธรรมสามารถทำได้หรือไม่และสมควรทำหรือไม่ และหากทรัพย์ค้ำประกันหนี้แยกออกมาจากหนี้นิติบุคคลแล้ว ลูกหนี้ปล่อยให้นิติบุคคลล้มละลายไป ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้จะได้ทรัพย์ค้ำประกันคืนหรือไม่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีแนวคำพิพากษาเช่นนี้ แนวทางสินเชื่อและการค้ำประกันของสถาบันการเงินและลูกหนี้นิติบุคคลจะยุ่งเหยิงเป็นอย่างยิ่ง วินิจฉัยดังกล่าวของศาลล้มละลายกลางสมควรเปิดเผยต่อสาธารณะชนให้ทราบชัดเพื่อหาแนวทางได้ถูกต้องเหมาะสมกับแนวทางของศาลล้มละลายกลางเพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่จะไม่คาดหวังว่าเมื่อทรัพย์จำนองค้ำประกันหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนิติบุคคลมีมูลค่าสูงกว่าหนี้คงค้างแล้วเหตุใดนิติบุคคลยังต้องล้มละลาย คิดอย่างไรลูกหนี้ก็คงคิดไม่ออกจริงๆ
การซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาค้าความ
การซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาในราคาถูกแล้วนำมาฟ้องล้มละลายลูกหนี้เป็นมูลค่าสูงกว่าเงินลงทุน 10 เท่า โดยมิได้นำมาบริหารตามที่กำหนดไว้ใน พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่อย่างใด เจ้าหนี้ไม่รู้จักลูกหนี้ด้วยซ้ำมีเพียงจดหมายแจ้งว่าฉันซื้อหนี้เธอมา 1 ฉบับแล้วก็ฟ้องล้มละลายลูกหนี้เลย ดังนั้นเมื่อไม่ได้ซื้อหนี้มาบริหารตามที่กฎหมายกำหนดเรียกว่าซื้อหนี้มาค้าความหรือไม่ ทำไมศาลล้มละลายถึงยอมให้เจ้าหนี้ทำได้ !!! การลงทุนซื้อหนี้ถูกๆตามแล้วมาเรียกหนี้เป็น 10 เท่าเทียบกับระยะเวลาลงทุนเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ข้อเท็จจริงเหล่านี้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลล้มละลายกลางมีมุมมองอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ในคดีอย่างชัดแจ้ง เจ้าหนี้เองก็อาจระวังในข้อนี้ จึงปรากฏการตัดต่อเอกสารปิดบังราคาซื้อหนี้ออกไปให้พ้นจากสารบบของศาล!!
หากบริษัทบริหารสินทรัพย์ มิได้ใช้ช่องว่างของกฎหมาย หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะควบคุมอย่างเคร่งครัด หากศาลจะวินิจฉัยว่าผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของพรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ต้องนำหนี้ที่ซื้อมาบริหารตามที่บัญญัติไว้ในข้อกฎหมายเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ประกอบกิจการต่อไปได้ ซื้อหนี้มาเท่าใด เอากำไรพอสมควร ลูกหนี้ก็จะสามารถใช้หนี้ได้ ไม่ต้องล้มละลายโดยเฉพาะลูกหนี้นิติบุคคลที่จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ มีการว่าจ้างงาน เสียภาษี ฯลฯ เศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปตามเจตนารมณ์ของการตราพระราชกำหนดให้คุ้มกับที่รัฐยกเว้นการเสียภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ดำเนินการย่อมไม่มีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายฉบับนี้ต้องบังคับใช้กฎหมายอื่นเช่นการสวมสิทธิค้าความ ค้ากำไรเกินควรจึงจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม
คำถามมากมายเหล่านี้เกิดขึ้นได้ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลของการซื้อขายหนี้เน่าจึงทำให้มีการหลับตายินยอมให้มีการขายหนี้เน่าไปเป็นทอดๆ ต่อไปโดยไม่สิ้นสุดจากรายหนึ่งโยนไปยังอีกรายหนึ่งโดยลูกหนี้ไม่มีสิทธิคัดค้านแต่อย่างใด สิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นลูกหนี้ในการเลือกเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้บริการถูกลืมเลือน คุณสมบัติของการเป็นสถาบันการเงินเป็นอย่างไรก็ถูกมองข้าม มีคำถามว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ยังสมควรมีอยู่หรือไม่และพระราชกำหนดอะไรจึงมีอายุยาวนานถึงสิบกว่าปีแล้ว หากกฎหมายฉบับนี้ดีเยี่ยมสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศจริงก็น่าจะตราเป็นพระราชบัญญัติเสียเลย ! อะไรอะไรก็ดูจะมีคำถามมากมายโดยไม่มีใครตอบไม่มีใครแก้ไข หนำซ้ำยังเสนอให้นำบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังเข้าตลาดหลักทรัพย์มันจะขี้ลืมอะไรกันขนาดนี้ว่า พรก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เกิดขึ้นเพราะอะไร กำหนดไว้ให้ทำอะไรบ้าง ปัจจุบันยุโรบกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ซึ่งอาจลุกลามมาสู่ประเทศไทยได้ เมื่อนั้นหนี้เสียจำนวนมากก็จะกลับมาอีก ของเก่า 10 ปีเศษแล้วยังไม่หมด เจอของใหม่อีกโดยไม่แก้ไขปรับปรุงกฎหมายอะไรกันเลย พอจะคิดภาพออกหรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนักธุรกิจไทย แต่หากตราบใดที่ผลประโยชน์ของการซื้อหนี้มาราคาถูก รีดไถได้ราคาแพงยิ่งกว่าเจ้าหนี้นอกระบบหลายเท่านักแล้วยังมีกฎหมายคุ้มครอง ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ ให้ถึงเวลาหรือยังที่กลุ่มผู้บริโภคที่สังคมเรียกว่าลูกหนี้จะเห็นความสำคัญของสิทธิพื้นฐานของตนเองและลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมเสียทีเพราะไม่มีใครเหลียวแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ว่าอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ผู้ออกกฎหมายหรืออำนาจตุลาการผู้บังคับใช้กฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น