xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ปัดใช้ทุนสำรองฯ ลงทุนบ่อน้ำมัน ย้ำ ธ.กลางไม่มีหน้าที่หากำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
“ประสาร” ชี้แจง กมธ.เกณฑ์นำทุนสำรองฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสามารถทำได้แต่ต้องนำเงินบาทมาแลก ยืนยันหลักการของทุนสำรองฯ ต้องมีสภาพคล่องสูงเอาไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน ย้ำชัด กม.แบงก์ชาติไม่อนุญาตให้ลงทุน “บ่อน้ำมัน” เพราะสภาพคล่องต่ำ พร้อมชี้แจงกรณี ธปท.ขาดทุน ยันไม่ใช่ปัญหาตราบใดที่นักลงทุนเชื่อมั่น และยังซื้อบอนด์ของ ธปท. ชี้บทบาท “ธนาคารกลาง” ไม่มีหน้าที่หากำไร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน (กมธ.1) ที่มี นายวิทวัส บุญญสถิตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ถึงกรณีการนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้ว่าสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นการนำเงินบาทมาแลกเงินดอลลาร์ที่อยู่ในรูปทุนสำรองระหว่างประเทศออกไป ส่วนการจะให้ ธปท.นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในปัจจุบัน เช่น ไปลงทุนในบ่อน้ำมันนั้น ตรงนี้ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมาย ธปท.ไม่อนุญาตไว้ อีกทั้งเงินสำรองฯ ต้องเก็บไว้ในรูปที่มีสภาพคล่องสูงเผื่อยามฉุกเฉิน

“เงินทุนสำรองฯ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงต้องเผื่อไว้เป็นสภาพคล่อง การเอาไปลงทุนในบ่อน้ำมันก็ต้องระมัดระวังอย่างสูง เพราะหากนักลงทุนต่างประเทศเขาต้องการแลกเงินสกุลต่างประเทศออกไปแล้วเกิดเรามีไม่เพียงพอ การจะขายบ่อน้ำมันคงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการลงทุนของแบงก์ชาติต้องลงทุนในสิ่งที่เรามีความถนัด แต่พนักงานของเราไม่มีใครที่มีความรู้ในเรื่องความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเลย ดังนั้นการไปลงทุนแบบนี้ก็คงไม่ได้”

ส่วนคำถามซึ่งถามว่าการที่รัฐบาลออกพันธบัตรแล้วให้ ธปท.มาซื้อเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำเงินไปลงทุนสามารถทำได้หรือไม่นั้น โดยหลักปฏิบัติแล้วไม่ควรทำเพราะเท่ากับเป็นการพิมพ์เงินซึ่งไม่ใช่หลักธรรมาภิบาลที่ดีสำหรับนโยบายการเงิน เนื่องจากธนาคารกลางไม่ควรปล่อยกู้ให้คนที่มีอำนาจสั่งธนาคารกลางได้ เพราะอนาคตหากผู้มีอำนาจต้องการใช้เงินก็จะสั่งให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินขึ้นมาอีก ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมาได้ในอนาคต และกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้ทำด้วย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ถ้าพิจารณาในหลักสากลแล้วก็ไม่มีประเทศไหนนิยมทำกัน อย่างกลุ่มประเทศยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้ธนาคารกลางปล่อยกู้ให้รัฐบาล เพราะสุดท้ายอาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจขั้นรุนแรงได้

ส่วนประเด็นผลดำเนินงานของ ธปท.ที่ขาดทุน ผู้ว่าการ ธปท.ชี้แจงว่า เป็นการขาดทุนที่เกิดจากการทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก ประกอบกับนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำให้ช่วงหนึ่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว ถ้า ธปท.ไม่เข้าไปดูแลอาจทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งต้องขาดทุนและปิดกิจการไปจำนวนมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้น ธปท.จึงต้องเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ระดับทุนสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมกับภาระที่เพิ่มด้วยเช่นกัน

“วัตถุประสงค์ของธนาคารกลางไม่ได้มีเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นการทำหน้าที่ของเราจึงไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องกำไร แต่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม เมื่อ 2-3 ปีก่อนช่วงที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมากทำให้ค่าเงินผันผวนรุนแรงจนเราต้องเข้าไปดูแลเพื่อประคองไม่ให้ภาคธุรกิจต้องขาดทุน ซึ่งเราก็ทำได้ดี และต่างประเทศก็ชื่นชมแบงก์ชาติไทยมากในเรื่องนี้ แต่การดูแลก็ยอมรับว่าทำให้เรามีผลขาดทุนตามมา”

อย่างไรก็ตาม การขาดทุนของ ธปท.นั้น ตราบใดที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นและยังลงทุนในพันธบัตร ธปท.อยู่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะได้พยายามศึกษาแนวทางที่จะลดผลขาดทุนตรงนี้ลง โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้สนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ จึงช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทลงได้โดยที่ ธปท.ไม่ต้องเข้าไปดูแลในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น