xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท. หนุนรัฐ-เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ห้ามล้วงทุนสำรองฯ แต่ต้องนำบาทมาแลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ผู้ว่าการ ธปท. ยินดีเปิดทาง “รัฐ-เอกชน” ล้วงทุนสำรองฯ นำไปลงทุนได้ แต่ต้องนำเงินบาทมาแลก ลั่นหนุลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และไม่เคยห้าม ไม่ว่าธุรกิจเกษตร หรือน้ำมัน เพราะเงินส่วนดังกล่าว ธปท. ทำหน้าที่รับฝากไว้ และมีต้นทุน ส่วนภาครัฐแนะให้ออกบอนด์ หรือหุ้นกู้ขายเป็นเงินบาท แล้วนำมาแลกเป็นเงินดอลลาร์ออกไป พร้อมยอมรับมีความเห็นต่างกับ “ดร.โกร่ง” เรื่องนโยบายการเงิน ถือเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ห่วงการเมืองแทรกแซงตั้งรองผู้ว่าฯ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ ธปท. นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือสร้างคลังน้ำมันเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยชี้แจงว่า เงินสำรองที่อยู่กับ ธปท.นั้น ไม่ได้เป็นของ ธปท. เพียงแต่ ธปท.ทำหน้าที่รับฝากไว้ และเงินส่วนนี้เป็นเงินที่มีต้นทุนด้วย

ทั้งนี้ หากใครต้องการนำไปใช้ก็สามารถนำไปได้ เพียงแต่ต้องนำเงินบาทมาแลกออกไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน

“ตรงนี้ฝากบอกว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจเกษตร หรือน้ำมัน ถ้าอยากนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน ก็ควรต้องเอาเงินบาทมาแลกออกไป เพราะเงินส่วนนี้เราเองก็มีต้นทุน หรือถ้ารัฐบาลจะนำออกไปก็ได้ โดยการออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ขายเป็นเงินบาท และนำมาแลกเป็นเงินดอลลาร์ที่อยู่ในรูปทุนสำรองออกไป ซึ่งแบงก์ชาติยินดีอยู่แล้วเพราะช่วยลดภาระการขาดทุนลงด้วย”

ส่วนประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันบ้างในเรื่องนโยบายการเงิน กับ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับนักเศรษฐศาสตร์ แต่สุดท้ายจะต้องอยู่บนหลักของเหตุผล ความน่าเชื่อถือ และข้อกฎหมายมาผสมผสานกันโดยที่สาธารณชนจะเป็นผู้ตัดสิน

ทั้งนี้ ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ความคิดเห็นที่ตรงกันก็มีหลายเรื่อง เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน โดยเห็นความสำคัญของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น การถูกจับตามองในเรื่องความเห็นต่างของคณะกรรมการน่าจะเป็นผลด้านจิตวิทยาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกกังวลกับการที่ถูกจับตามองกรณีฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธปท. เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์โครงสร้างต่างๆ ให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น