ธปท.เตรียมพร้อมรับ “คิวอี3” เปิดแผนโชว์ 4 เครื่องมือสกัดบาทผันผวน-แข็งค่า ปิดความเสี่ยงเม็ดเงินมหาศาลไหลทะลักท่วมเอเชีย โดยมาตรการแรงสุด คือ มาตรการสกัดกันเงินทุนไหลเข้า
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมมาตรการทางด้านการเงิน 4-5 เครื่องมือ ไว้รองรับความผันผวนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในทิศทางแข็งค่า หลังจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE : Quantitative Easing) ในรอบที่ 3 เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกทะลักเข้าภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่า
ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วย เครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน การส่งเสริมในเรื่องเงินทุนไหลออก การเข้าแทรกแซงตลาด และมาตรการสกัดกั้น เป็นต้น ซึ่ง ธปท.จะต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ และความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายประสารกล่าวว่า ในเครื่องมือทั้งหมด อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่เป็นธรรมชาติมากสุด โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐไม่ผันผวนมากเกินไป ในระดับที่ผู้ประกอบการส่งออกรับได้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนนี้ส่วนใหญ่มักจะเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า หรือคู่แข่งขันด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชีย ดังนั้น การเคลื่อนไหวสอดคล้องกับประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีปัญหามากนัก ส่วนมาตรการสกัดก็ขึ้นกับระดับความรุนแรงของเงินทุนไหลเข้า
“ถ้าคิวอี 3 เกิดจริง คงมีเงินทะลักเข้ามาแน่ เงินบาทก็คงแข็งค่าขึ้น เวลานี้เราจึงพยายามเก็บพื้นที่เอาไว้ จะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมา เงินสำรองระหว่างประเทศไทยไม่ได้เพิ่มเลย จะคงๆ อยู่ระดับนี้ หากไปดูแลก็มีค่าใช้จ่ายมาก เราเองก็เหนื่อย ก็ภาวนาอยู่”
ส่วนมาตรการที่ส่งเสริมให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น เป็นมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลของค่าเงินบาท ซึ่งที่ผ่านมา ค่อนข้างได้ผลดี โดยปี 2554 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินออกไปแล้ว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปีนี้ ออกไป 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี
อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ มาตรการการคลังมีความจำเป็นนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ควรเป็นมาตรการที่ส่งเสริมในเรื่องการลงทุนเพื่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต มากกว่าการกระตุ้นการอุปโภค และบริโภค เพราะเวลานี้ประเทศไทยต้องการการลงทุนมากกว่า