xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ยอมรับบาทแข็งค่าขึ้น 1-2% แต่ยังมีเสถียรภาพ เงินทุนไหลเข้า-ออกไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ยอมรับบาทแข็งค่าขึ้น 1-2% แต่ยังมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับคู่ค้า ยันเงินทุนไหลเข้า-ออกไม่กระทบค่าเงินบาท

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบด้านการเงินการลงทุนหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบที่ 3 ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเดิม 1-2% แต่ยืนยันว่า ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เงินทุนไหลเข้า-ออกยังมีความสมดุล เพราะมีเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในหลายด้าน ขณะที่มีเงินไหลออกไปด้วย และไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาท ส่วนในช่วงต่อจากนี้ คงต้องรอดูผลของมาตรการ QE3 อีกระยะหนึ่งก่อน

หลังการประกาศใช้ QE3 เงินบาทไม่ได้อยู่ระดับเกินคาดหมาย และยังมีการเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีทั้งซื้อ และขาย มีดุลยภาพดี ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนต้องดูว่าเงินบาทที่เคลื่อนไหว 2 ทิศทาง ก็อย่าชะล่าใจ ถ้าความเสี่ยงเปิดก็แนะให้บริหารความเสี่ยงไว้ด้วย

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลังการใช้ QE3 เนื่องจากเฟดไม่ได้มีการประกาศระยะเวลาสิ้นสุดการใช้มาตรการที่ชัดเจน แต่จะรอให้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ระดับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยมีความน่าสนใจลงทุนน้อยลงเมื่อเทียบ 2 ปีก่อนที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูง โดยตลาดละตินอเมริกามีความน่าสนใจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า

ทั้งนี้ ธปท.มีการเตรียมมาตรการรับมือเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการผ่อนคลายมาตรการนำเงินออกนอกประเทศ ด้วยการสนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งประสบผลสัมฤทธิ์ดี โดยปี 2554 มีเม็ดเงินลงทุนของไทยไหลออกนอกประเทศ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8 เดือนแรกปีนี้ ก็มีเงินทุนไหลออกไปลงทุน 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการรักษาสมดุลกับเงินที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรที่มีราว 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทไม่ถูกกดดันจากเงินไหลเข้า

ซึ่งจากวิกฤตการเงินโลกที่มาเร็ว และแรงขึ้น ธปท.ยังมีเครื่องมือที่ยังสามารถใช้ได้ดี และมีการเตรียมเครื่องมือให้พร้อม และพร้อมที่จะนำมาผสมผสานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป โดยที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี

หลังการใช้ QE3 อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นตามราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศไทย เพราะปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อของไทยมาจากภายในประเทศ ทั้งระดับรายได้ของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ทำให้มีการอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมถึงการลงทุนสูงเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แต่ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังติดตามต่อไป

การลดดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด แม้ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยลดลง แต่เกิดคำถามว่า จะสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินยังขยายตัวสูง เดือน ส.ค.สินเชื่อขยายตัวถึง 15-16% การแข่งขันเงินฝากยังมีอยู่สูง หากมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ส่งผ่านนโยบายได้ดีเท่าที่ควร และยังไม่ได้สร้างผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งอาจมีผลกระทบทางอื่นตามมาด้วย

นายประสาร มั่นใจว่า กนง.ดูเสถียรภาพเศรษฐกิจ และความเสี่ยงเงินเฟ้อ ซึ่งค่อนไปทางเศรษฐกิจที่ยังโตต่อเนื่อง โดยสินเชื่อภาคสถาบันการเงินยังเติบโตสูง การอุปโภคบริโภค การลงทุนในประเทศเติบโตสูง ซึ่ง กนง.นำมาประกอบการพิจารณา การลดอกเบี้ยตอนนี้อาจไม่ส่งผ่าน และส่งสัญญาณผิด แต่ก็ยังติดตามอยู่ต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น