xs
xsm
sm
md
lg

8 เดือนเงินเข้าไทยหมื่นล้านเหรียญ ธปท.ยันบาทแกร่ง-ยึดนโยบาย ดบ.เป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.เผย หลังมาตรการ QE3 ต่างชาติขนเงินลงทุนละตินอเมริกามากกว่าเอเชีย เหตุเศรษฐกิจประเทศเอเชียถูกกระทบจากส่งออกหดตัว เผย 8 เดือนแรกของปีนี้ เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น-บอนด์หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีนักลงทุนไทยออกไปนอกประเทศ 8 พันล้านบาท ทำให้เงินบาทสมดุล ย้ำยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนประกอบ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รอบที่ 3 (QE3) ขณะนี้ภูมิภาคละตินอเมริกาดึงดูดเงินทุนเม็ดเงินจากต่างชาติมากกว่าในภูมิภาคเอเชีย เพราะภาคส่งออกหดตัวค่อนข้างมาก ทำให้แรงกดดันเงินทุนไหลเข้าไม่มากนัก ประกอบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แม้เงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทยหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยเงินทุนโดยตรงนอกประเทศ (ทีดีไอ) 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 54 เม็ดเงินส่วนนี้ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จึงช่วยรักษาสมดุลของเงินทุนไหลเข้า-ออกได้ดี และเงินบาทไม่ถูกแรงกดดันมากนัก

“หลังเฟดออกมาตรการ QE3 เงินบาทแข็งค่า 1-2 % เชิงเปรียบเทียบเงินบาทไม่ได้แข็ง หรืออ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และสกุลเงินที่เป็นประเทศคู่ค้า ถือว่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพอยู่ อีกทั้งการส่งออกชะลอตัว ทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่าในปีนี้ไทยเกินดุลชำระเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีแรงกดดันเงินทุนไหลเข้าไม่มาก”

ท่ามกลางความผันผวน เครื่องมือที่ ธปท.ใช้ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหลัก และไม่มีความคิดจะเปลี่ยนใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายหลัก แต่การประเมินเศรษฐกิจแต่ละครั้งจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวประกอบ เพราะหากเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักไปมาอาจสร้างความสับสนต่อตลาดการเงินได้ และหน้าที่หลักของธนาคารกลาง คือ ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจก็ย่อมมีต้นทุนในการดำเนินนโยบายเป็นธรรมดา แต่ ธปท.จะคำนึงถึงประสิทธิภาพ และสามารถอธิบายเหตุผลจำเป็นในสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ด้วย

“หากสงครามเกิดขึ้น จำเป็นต้องส่งกองทัพเพื่อปกป้องประเทศชาติไม่ให้เกิดเสียหาย แต่จะไปบอกแม่ทัพว่าให้ระวังขาดทุนด้วย หรือทำกำไรกลับมาหน่อยก็ได้นะ เขาเหล่านี้ก็จะไม่กล้าปกป้องประเทศ ฉะนั้น การดูแลเสถียรภาพไม่ใช่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนหยุดนิ่ง และบริหารแทนภาคเอกชนทั้งหมด ถือเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งควรดูแลต้นทุนของตัวเองด้วย แต่เราจะแทรกแซงค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่รองรับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ”

**ลด ดบ.ช่วงศก.-สินเชื่อโตอาจส่งสัญญาณผิด**

ต่อข้อซักถามที่ว่า ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจหลายด้านประกอบกัน โดยขณะนี้ สภาพเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงค่อนไปด้านอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้น และมากกว่าความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ภาวะการเงินภายในประเทศมีการเติบโตต่อเนื่อง

โดยล่าสุด เดือน ส.ค.สินเชื่อขยายตัวสูง 15-16% และการแข่งขันรับฝากสูง ถ้ายามนี้ลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะส่งสัญญาณที่ผิด ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ส่งผ่านและซ้ำเติมไม่ดีต่อเศรษฐกิจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น