“ไทยเบฟ” ลุยเทกโอเวอร์ “เอฟแอนด์เอ็น” เตรียมขอสินเชื่อแบงก์หลายแห่งในสิงคโปร์ ก่อนทำคำเสนอซื้อหุ้น “ฐาปน” มั่นใจยึดได้สำเร็จจะทำให้ไทยเบฟเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มในเอเชีย ขณะที่สื่อนอกตีข่าว “บิ๊กไทยเบฟ” กำลังใช้ความพยายามในการสกัด “เอฟแอนด์เอ็น” เพื่อไม่ให้ขายหุ้น “เอพีบี” ผู้ผลิตเบียร์ไทเกอร์ให้กลุ่มไฮเนเก้น
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ กำลังเดินหน้าแผนธุรกิจเครื่องดื่มในต่างประเทศ โดยเข้าซื้อบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสื่อในต่างประเทศระบุว่า ไทยเบฟฯ ได้ติดต่อธนาคารหลายแห่งในสิงคโปร์ เพื่อขอสินเชื่อสำหรับเตรียมการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั่วไปของเอฟแอนด์เอ็น
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวยังระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารของเอฟแอนด์เอ็น ตกลงที่จะขายหุ้น 40% ในบริษัทเอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรีส์ (เอพีบี) ผู้ผลิตไทเกอร์เบียร์ ให้แก่ไฮเนเก้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นของเอฟแอนด์เอ็นจะลงมติต่อข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 28 กันยายน 2555 นี้
ขณะที่สื่อในสิงคโปร์ ระบุว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการไทยเบฟฯ กำลังใช้ความพยายามในการสกัดเอฟแอนด์เอ็น เพื่อไม่ให้ขายหุ้นเอพีบีแก่กลุ่มไฮเนเก้น พร้อมระบุว่า ไทยเบฟฯ กำลังแข่งขันกับไฮเนเก้นในการเสนอซื้อหุ้นเอพีบี เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในเอเชียที่กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ไทยเบฟฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในเอฟแอนด์เอ็น โดยถือหุ้น 29% อาจไม่ต้องขอสินเชื่อมากนัก หากสามารถหาหุ้นส่วนได้ ซึ่งไทยเบฟฯ ได้ทุ่มเงิน 3.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น จำนวน 29% โดยได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากเงินกู้ 2.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และถ้าสัดส่วนการถือหุ้นของไทยเบฟฯ แตะระดับ 30% ทางบริษัทก็จำเป็นต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นทั้งหมด
ด้านนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟฯ ยอมรับว่า การที่บริษัทได้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอฟแอนด์เอ็น จะมีส่วนผลักดันให้แผนขยายธุรกิจเครื่องดื่มในต่างประเทศเร็วขึ้น เพราะถือเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก
โดยก่อนหน้านี้ ไทยเบฟฯ ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศไว้ที่ 30% ของรายได้ทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด และอาจจะมีการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้น
สำหรับสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา มีเพียง 4-5% ของรายได้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท แม้ว่าไทยเบฟฯ จะมีการเติบโตในต่างประเทศปีละ 30% แต่ด้วยฐานที่เล็กมาก ทำให้เป้าหมายสัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้รวมอาจต้องใช้เวลานาน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องขยายฐานรายได้ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 30% เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาค และรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายในปี 2558 นอกจากนี้ ไทยเบฟฯ ยังต้องเร่งสร้างตราสินค้า (แบรนด์) ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ในตลาดต่างประเทศด้วย
นายฐาปน กล่าวเสริมว่า ไทยเบฟฯ ได้ทยอยจดทะเบียนตั้งบริษัทในอาเซียน เช่น โออิชิ อินเตอร์ในฮ่องกง ส่งโออิชิ ไปขายยังประเทศรัสเซีย จดเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใน 27 ประเทศทั่วยุโรป และเพิ่มเครื่องดื่มอื่นๆ ในจีน จากที่ปัจจุบันขายเพียงสุรา และเบียร์เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการตั้งเป้ารายได้รวมที่ระดับ 2 แสนล้านบาท ภายใน 2 ปีนี้ โดยรายได้ปีนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 10% จากปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 1.3 แสนล้านบาท โดยครึ่งแรกทำได้แล้ว 8.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 33% ซึ่งการที่มีรายได้จากกลุ่มเสริมสุข และรายได้จากเอฟแอนด์เอ็นเข้ามาเสริม ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่คาด