ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์จริงๆในวงการน้ำเมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่าง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ กับ ไฮเนเก้น ที่เปิดศึกชิงซื้อหุ้นAPB บริษัทผลิตเบียร์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องเพราะ APB มีเบียร์หลากหลายยี่ห้ออยู่ในสังกัด โดยเฉพาะ ”ไทเกอร์เบียร์” ซึ่งเป็นเบียร์ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย และยังเป็นเบียร์ที่เป็นผู้นำตลาดในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ APB
ยังมีกิจการร่วม 14 ประเทศในเอเชีย
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมทั้งสองค่ายอย่าง”ไทยเบฟฯ”กับ”ไฮเนเก้น”ถึงเปิดศึกชิงหุ้นAPB
เหตุผลสำคัญมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในเอเชียกำลังมีการขยายตัวสูงมาก มีศักยภาพที่เติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหมายถึงการชิงชิ้นเค้ก 10ประเทศ จากการมีประชากรร่วม 600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยุโรปหรือกระทั่งอเมริกาทั้งสองโซนกำลังผจญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก
นอกจากนี้อัตราการบริโภคเบียร์ของคนเอเชียยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับยุโรปหรือกระทั่งอเมริกา และตลาดเบียร์ทั้งสองตลาดเริ่มอิ่มตัวมานานแล้ว
การวางหมากของไทยเบฟฯ เพื่อรุกซื้อหุ้น F&N จำนวน 22% ที่โอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป (OCBC) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ อันดับ 2 ของสิงคโปร์ ถือครองไว้ และบุตรเขยของนายเจริญ ตกลงที่จะซื้อหุ้น 8.5% ใน APB โดยข้อเสนอซื้อทั้งหมดนี้มีมูลค่าราว 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเสนอซื้อหุ้นAPB หุ้นละ 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งหลายคนไม่แปลกใจ เพราะสูตรสำเร็จการทำธุรกิจของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี คือการใช้เงินกว้านซื้อ กิจการหรือการร่วมทุน เพื่อต่อยอด การทำธุรกิจได้ง่ายและรวดเร็ว
เมื่อดูพอร์ตโฟลิโอAPB ซึ่งมีไทเกอร์เบียร์ มีดีกรีเป็นเบียร์ระดับแนวหน้าในเอเชีย และเป็นผู้นำตลาดในประเทศสิงคโปร์ เข้ามาช่วยเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟฯ ในการประกาศก้าวรุกตลาดในภูมิภาคอาเซียน จากเดิมมีเพียงเบียร์ช้างเป็นเสมือนหัวหอกหลักการบุกตลาดต่างประเทศเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ไทยเบฟฯวางเป้าหมายให้เบียร์ช้างขึ้นเป็นท็อปไฟว์แบรนด์ในเอเชีย ในขณะที่กลุ่มเบียร์สิงห์หวังจะเป็นท็อปทรีในตลาดเอเชียในอีก 3 ปี จากปัจจุบันอยู่อันดับท็อปเท็น โดยมีเบียร์อาซาฮีและคิริน เบียร์สัญชาติญี่ปุ่นผลักดันเป็นผู้นำตลาด
ขณะที่การเข้าซื้อหุ้น F&N หรือยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารของภูมิภาค นั่นหมายถึงการฮุบสินค้าในพอร์ตโฟลิโอในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยเบฟฯ ยังไม่มีอาณาจักรหรือกลุ่มสินค้ามากนัก นอกเสียจากสินค้าจากโออิชิ กรุ๊ป อาทิ ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ และ อะมิโน โอเค โดยใน F&N สิงคโปร์ มีกลุ่มสินค้านอนแอลกอฮอล์มากมาย อาทิ ชา กาแฟ นมถั่วเหลืองรวมไปถึงกลุ่มน้ำผลไม้ ฯลฯ เท่ากับว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ได้รวดเร็วแทนที่จะต้องมาสร้างแบรนด์ตนเอง และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เพราะการสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลา ไฮเนเก้นวิ่งสู้ฟัดเสนอซื้อหุ้นสูงกว่าไทยเบฟฯ
สำหรับทางด้านไฮเนเก้น จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องตั้งป้อมสู้และเปิดศึกกับไทยเบฟฯ ในครั้งนี้ โดยบริษัทไฮเนเก้นฯ ได้เสนอซื้อหุ้น APB เป็นเงินมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ (4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเสนอที่จะซื้อหุ้นF&N และหุ้นสามัญอื่นๆที่ทางบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของ
หากพิจารณาถึงการทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้นในภูมิภาคเอเชีย ด้วยความที่เป็นเบียร์ระดับพรีเมียม มีราคาที่สูงกว่าเบียร์ระดับอีโคโนมีและสแตนดาร์ด ดังนั้นจึงมีความอ่อนไหวได้ง่ายหากประเทศในเอเชียมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับกำลังการซื้อของคนส่วนใหญ่ที่ดีไม่มากนัก ขณะที่ไทเกอร์เบียร์ ซึ่งเป็นเบียร์สแตนดาร์ดเข้ามาช่วยลดช่องว่างและทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ไฮเนเก้นเองก็มองการขยายตลาดเบียร์ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ไฮเนเก้นต้องรักษาฐานที่มั่นให้ดี โดยเฉพาะไทเกอร์เบียร์ ซึ่งเปรียบเสมือนหัวหอกบุกตลาดเอเชีย
ศึกห้ำหั่นในครั้งนี้ระหว่างไทยเบฟฯ กับ ไฮเนเก้น แม้ขณะนี้ดูเหมือนไฮเน เก้นจะมีแต้มต่อ เนื่องจากมีการเสนอซื้อหุ้นละ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่ไทยเบฟฯ เสนอซื้อหุ้นละ 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้นโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป (OCBC) ผู้ขายหุ้นF&Nมีความเป็นไปได้ที่จะให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ ต่อข้อเสนอของไฮเนเก้นโดยมีสิทธิที่จะเลือกข้อเสนอที่ให้ราคาสูงกว่าไทยเบฟ เพราะขณะนี้การซื้อขายกิจการยังไม่เสร็จสมบูรณ์
สำหรับ APB เป็นผู้ผลิตไทเกอร์เบียร์และเบียร์ยี่ห้ออื่นๆ เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นใน APB ประกอบด้วย F&N ถือครองหุ้นสัดส่วน 40 % ในAPB ไฮเนเก้นถือหุ้น 42 % ใน APB ขณะที่บริษัทคิริน โฮลดิงส์ฯ ผู้ผลิตเบียร์จากญี่ปุ่น ถือหุ้น 14.7 % ใน F&N ส่วนศึกครั้งนี้ จะปิดฉากด้วยการที่ใครจะได้ครอบครองนั้น คงต้องรอดูกันต่อไป