xs
xsm
sm
md
lg

UN แนะเก็บภาษี “เศรษฐีพันล้าน” ระดมเงินช่วยประเทศยากจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การสหประชาชาติ
เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้มีการเก็บภาษีจากบรรดามหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลก เพื่อระดมทุนให้ได้กว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับช่วยเหลือประเทศที่ยากจน วานนี้ (5)

แผนเก็บภาษีจากกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดของโลกเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการอื่นๆ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน, ภาษีแลกเปลี่ยนเงินตรา และภาษีธุรกรรมการเงิน ที่ถูกเสนอผ่านผลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมโลกประจำปีของยูเอ็น (World Economic and Social Survey) ซึ่งกล่าวหาว่า ประเทศร่ำรวยกำลังผิดคำมั่นสัญญาที่ว่าจะมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ยากจนมากยิ่งขึ้น

รายงานฉบับนี้ประเมินว่า มหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป เพิ่มจำนวนเป็น 1,226 คนทั่วโลก ในปี 2012

ในจำนวนดังกล่าวเป็นมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ 425 คน, เอเชีย-แปซิฟิก 315 คน, ยุโรป 310 คน, ประเทศอื่นๆ ในอเมริกาเหนือและใต้ 90 คน และอีก 86 คนในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

บุคคลกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากเก็บภาษีพวกเขาคนละ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้เงินมากกว่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานระบุ

“มันจะทำให้พวกเขาเดือดร้อนหรือ” ยูเอ็นตั้งคำถาม

“โดยเฉลี่ยแล้วมหาเศรษฐีเหล่านี้จะยังมีทรัพย์สินถึงคนละ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากจ่ายภาษี หากเขาใช้จ่ายวันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถอยู่ได้นานกว่า 10,000 ปีกว่าจะใช้เงินหมด”

ยูเอ็นรายงานว่า ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008-2009

“หากทรัพย์สินของพวกเขายังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเดิมโดยไม่มีการเก็บภาษี เศรษฐีเหล่านี้จะมีทรัพย์สินเป็น 2 เท่าในอีกไม่ถึง 18 ปีข้างหน้า” รายงานของยูเอ็นระบุ

แนวคิดเช่นนี้คงจะเป็นที่พอใจของเศรษฐีประเภทเดียวกับ วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ ซึ่งโอดครวญว่าตนจ่ายภาษีในอัตราต่ำกว่าเลขานุการเสียอีก รวมถึงรัฐบาลพรรคโซเชียลลิสต์ฝรั่งเศสที่ขู่จะเก็บภาษี 75% สำหรับคนที่มีรายได้เกินกว่า 1 ล้านยูโร

อย่างไรก็ดี ยูเอ็นยอมรับว่า มาตรการเช่นนี้ยากที่จะได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มเป้าหมาย

“คนส่วนใหญ่ยังไม่มองว่า นี่เป็นวิธีระดมทุนเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ” รายงานเผย

สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่ถูกเสนอในรายงานของยูเอ็น ประกอบด้วย

- การเก็บภาษี 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อการปลดปล่อยคาร์บอน 1 ตัน ซึ่งจะระดมทุนได้ราวๆ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเก็บผ่านรัฐบาลของประเทศต่างๆ และจัดสรรเข้ากองทุนความร่วมมือระหว่างประเทศ

- การเก็บภาษี 0.005% สำหรับการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดอลลาร์, เยน, ยูโร และปอนด์สเตอลิง ซึ่งจะช่วยระดมเงินได้ถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

- ดึงเงินบางส่วนจากภาษีธุรกรรมการเงินในยุโรป ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รายงานยังเสนอให้ปรับขึ้นภาษีตั๋วเครื่องบินซึ่งหลายๆ ประเทศเรียกเก็บอยู่แล้ว เพื่อนำเงินไปสนับสนุนยารักษาโรคในประเทศยากจนผ่านทางองค์การ UNITAID ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนแล้ว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เริ่มเก็บภาษีชนิดนี้ในปี 2006

รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บภาษี 1 ยูโรสำหรับผู้เดินทางด้วยเที่ยวบินชั้นประหยัดในประเทศ และ 6 ยูโรสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนเที่ยวบินชั้นธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศจะถูกเก็บภาษี 10 และ 40 ยูโรตามลำดับ ซึ่งอุตสาหกรรมการบินต่างก็คัดค้านไม่ให้มีการขึ้นภาษีประเภทนี้อีก โดยอ้างว่าพวกเขาต้องจ่ายมากพอแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นชี้ว่า การเก็บภาษีลักษณะนี้ถือว่า “มีเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจ” เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) และบรรเทาความผันผวนของตลาดการเงินได้
กำลังโหลดความคิดเห็น