โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• ECB มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ เป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่เห็นว่า ECB จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอย
• ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่เพิ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 5 หมื่นล้านปอนด์ ทำให้วงเงินรวมของมาตรการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 3.75 แสนล้านปอนด์ ซึ่งธนาคารกลางอังกฤษจะเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ
• สเปนออกพันธบัตรอายุ 3, 4 และ 10 ปี 3 พันล้านยูโรให้ตลาดประมูลได้ด้วยอัตราผลตอบแทน 5.086%, 5.536% และ 6.430% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับขึ้นในทุกช่วงอายุ ส่วน Demand ของผู้ซื้อมีการปรับลดลงจากครั้งก่อน
• ฝรั่งเศสออกพันธบัตรอายุ 7, 10 และ 11 ปี 7.826 พันล้านยูโรให้ตลาดประมูลได้ด้วยอัตราผลตอบแทน 2.02%, 2.53% และ 2.70% ตามลำดับ โดยต้นทุนการกู้ยืมของพันธบัตรอายุ 7 และ 11 ปีปรับตัวลดลงจากการประมูลครั้งก่อน แต่รุ่น 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.46%
• Moody’s ปรับมุมมองอันดับเครดิตของบาร์เคลย์สจากมีเสถียรภาพเป็นเชิงลบ เพื่อสะท้อนความกังวลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังจากผู้บริหารระดับสูง 3 รายเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณ LIBOR ซึ่งทำให้บาร์เคลย์สถูกปรับ 435 ล้านดอลลาร์ และทำให้ผู้บริหารทั้ง 3 รายต้องลาออกจากตำแหน่ง
• ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าชาวเยอรมันเกือบ 1 ใน 3 ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมอบอำนาจให้ ECB และไม่พอใจมากขึ้นกับบทบาทของประเทศในฐานะผู้จ่ายเงินรายใหญ่ของยุโรป รวมถึงยังลังเลมากที่จะให้ความช่วยเหลือหลายพันล้านยูโรแก่ประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 2 ใน 3 ยังแสดงความคัดค้านแนวคิดเกี่ยวกับการออกยูโรบอนด์ และส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการลงประชามติเพื่อตัดสินประเด็นเรื่องกฎหมายการคลังในยุโรป
• ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 52.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 30 แต่เป็นอัตราการขยายที่ชะลอลง และลดลงจาก 53.7 ในเดือนก่อน
ทั้งนี้ ดัชนีภาคการบริการถือเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคบริการ
• ภาคเอกชนสหรัฐฯ จ้างงานเพิ่มขึ้น 176,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. จาก 136,000 ตำแหน่งในเดือนก่อน โดยเป็นการจ้างงานในธุรกิจภาคบริการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 160,000 ตำแหน่ง และส่วนใหญ่ยังเป็นการจ้างงานจากบริษัทขนาดกลางกับขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 499 คน
• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. ลดลง 14,000 รายมาอยู่ที่ 374,000 ราย ทำให้แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักมา 2-3 เดือนที่ผ่านมา
• ธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีลง 0.25% เหลือ 3% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีลง 0.31% เหลือ 6% ซึ่งเป็นการลดครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ เนื่องจากมีความกังวลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมให้ลูกค้าลงได้อีก 30% จากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง จากเดิมที่กำหนดให้ลดได้เพียง 20%
• ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีสัญญาณการฟื้นตัวระดับปานกลางในช่วงที่ผ่านมา แต่เตือนว่าระบบการเงินภายในประเทศยังไม่สามารถต้านทานวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในยุโรปได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา
• ธนาคารกลางอินโดนีเซียเปิดเผยว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียลดลงจาก 1.1153 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 1.065 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. โดยธนาคารกลางได้เข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.หลังจากนักลงทุนต่างประเทศนำเงินออกนอกประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความเสี่ยงวิกฤตหนี้สินในยุโรป
ทั้งนี้ ธนาคารกลางระบุว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียยังมีเพียงพอสำหรับชำระหนี้และการนำเข้าสินค้าในอีก 6 เดือนข้างหน้า
• S&P’s ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ขึ้นเป็น BB+ จาก BB และให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ เนื่องจากสถานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้นจากการส่งออกแรงงานในภาคบริการ และการส่งเงินกลับจากแรงงานในต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับเกินดุลต่อเนื่อง
• อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ลดลงจาก 2.9% ในเดือน พ.ค. มาเป็น 2.8%ในเดือน มิ.ย. จากค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันโลก ขณะที่ความต้องการในประเทศในระดับสูงได้ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และสินค้าภายในบ้านยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
• ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 3% โดยจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูงจากภาวะเศรษฐกิจโลก
• พม่าเตรียมผ่านกฎหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อดึงดูดเงินลงทุนภายนอกมาพัฒนาประเทศ โดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนจากต่างชาติด้วยการยกเว้นภาษีจากเดิมยกเว้น 3 ปีแรกเป็นยกเว้นให้ถึง 5 ปี หรืออาจจะถึง 8 ปีหากเป็นธุรกิจที่เข้าตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมถึงขยายระยะเวลาเช่าที่ดินจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี และยังอนุญาตให้ต่างชาติสามารถทำสิทธิการเช่าที่ดินโดยตรงกับภาคเอกชนพม่า จากเดิมที่ต้องทำสัญญาเช่ากับภาครัฐเท่านั้น
• สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยระบุว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปีนี้จะเติบโตได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสิ่งทอได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในตลาดยุโรป ทำให้มูลค่าการส่งออกสิ่งทอลดลงถึง 15% ใน 5 เดือนแรกของปี (การส่งออกไปยังยุโรปลดลงถึง 27%)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการจ้างงานในประเทศสูงถึง 1 ล้านคน และ 99.8% ของผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม
• ครม.มีมติเห็นชอบให้ ธปท.สมทบเงินให้แก่ IMF 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสมทบกองทุนสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก
• นายกรัฐมนตรีแสดงความมั่นใจหลังการประชุม กบอ.ว่าการจัดการน้ำในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการดูแลระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่า โอกาสที่จะเกิดอุทกภัยในปีนี้มีเพียง 1% โดยจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำ ริมน้ำ และพื้นที่ที่เคยท่วมเดิม ซึ่งเป็นไปตามลักษณะภูมิศาสตร์ แต่พื้นที่ กทม.จะไม่ท่วมแน่นอน
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,201.80 จุด เพิ่มขึ้น 7.65 จุด หรือ +0.64% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 27,872 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ 596.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ SET ปรับตัวขึ้นจากหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคารที่มีแนวโน้มว่าผลประกอบการจะเติบโตดีในไตรมาส 2 ขณะที่มีแรงขายหุ้นกลุ่มอาหารจากความกังวลต่อปัจจัยกดดันต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง -0.00 ถึง +0.01% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน มูลค่า 50,000 ล้านบาท