โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• ปีเตอร์ แพรท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกสภาบริหารของ ธ.กลางยุโรป (ECB) กล่าวเป็นนัยว่า ECB อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า เนื่องจากนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของ ECB มุ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในยูโรโซนในระยะกลาง โดยตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ไม่เกิน 2% ในขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในเยอรมนีบรรเทาเบาบางลง จึงอาจจะเปิดโอกาสให้อีซีบีสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก
• รอยเตอร์รายงานว่า ธ.พาณิชย์ในยุโรปต้องการกู้เงินจาก ECB 1.80 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากเดือนที่แล้ว เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ ธ.พาณิชย์เลือกที่จะกักตุนเงินสดแทนการปล่อยกู้ ส่งผลให้ ธ.พาณิชย์ที่ขาดสภาพคล่องต้องหันมาพึ่งพาเงินกู้จาก ECB แทน
• แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการต่อต้านแนวคิดที่ให้ยูโรโซนออกพันธบัตรร่วมกัน โดยกล่าวว่ายุโรปจะไม่แบ่งปันภาระหนี้ทั้งหมดร่วมกันตราบใดที่ตนยังมีชีวิตอยู่ เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งผิดในทางเศรษฐกิจและจะส่งผลในทางตรงกันข้ามกับที่ต้องการ พร้อมกับเตือนว่าอย่าหวังว่าจะมีวิธีที่รวดเร็วหรือง่ายดายในการแก้ปัญหาหนี้ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีอาจยินยอมให้มีการนำเงินจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) มาช่วยเหลือโดยตรงแก่กองทุนคุ้มครองธนาคารของแต่ละประเทศ
• บริษัท อี แกน-โจนส์ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของเยอรมนีลงสู่ระดับ A+ จากเดิมที่ AA- สืบเนื่องจากภาระของเยอรมนีจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ยูโรโซน
• เจอโรม คาฮูแซค รมว.งบประมาณของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า รัฐบาลฝรั่งเศสวางแผนลดค่าใช้จ่ายสาธารณะในวงเงิน 1 พันล้านยูโร และจะมีการเรียกเก็บภาษี 3% จากเงินปันผลในปีนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณลงอีก 0.7% มาอยู่ที่ 4.5% ของ GDP ในปี 2555 และเหลือเพียง 3% ในปีถัดไป
• ธ.กลางสเปนเปิดเผยว่า GDP ของสเปนในไตรมาส 2 ปีนี้อาจหดตัวรุนแรงมากกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากดัชนีบ่งชี้เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภค ยอดขายรถยนต์ หรือผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
• ยอดขาดดุลของรัฐบาลกลางสเปนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 3.4% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็น 2.59% เนื่องจากเขตปกครองตนเอง 17 แห่งของสเปนไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าการใช้จ่าย รวมถึงการลดลงของรายได้ภาษี ทั้งนี้ รัฐบาลสเปนยังคงเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายยอดขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 3.5% ได้
• มาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวว่า รัฐบาลสเปนอาจไม่สามารถระดมทุนต่อไปได้นานนัก เนื่องมาจากต้นทุนการกู้ยืมที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีสถาบันการเงินหลายรายของสเปนที่ไม่สามารถระดมทุนจากตลาดได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในอิตาลี และประเทศอื่นๆ ด้วย
ดังนั้น ราฮอยจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้พิจารณาการจัดตั้งสหภาพการธนาคารและการคลังของยูโรโซนในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปในครั้งนี้
• สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลีเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของอิตาลีในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นมากเกินคาดมาอยู่ที่ระดับ 88.9 อันเป็นผลจากแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคการผลิตจากฐานความเชื่อมั่นในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบสามปี
• อิตาลีระดมทุนจากการประมูลขายตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือนได้ 9 พันล้านยูโร โดยมีอัตราผลตอบแทน 2.697% สูงสุดนับจากปลายปีก่อน เมื่อเทียบกับการประมูลครั้งก่อนที่ 2.104% ซึ่งเป็นแรงกดดันให้อิตาลีต้องเจรจาถึงมาตรการบรรเทาปัญหาในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปครั้งนี้
• ECB ประกาศไม่รับพันธบัตรของไซปรัสเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกต่อไป เนื่องจากไซปรัสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือมาอยู่ในระดับเก็งกำไร (Speculative grade)
• Gallup เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของชาวอเมริกันในสัปดาห์ที่แล้วว่ายังคงลดลงต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ -25 เนื่องจากตัวเลขจ้างงานน่าผิดหวัง และบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ซบเซาในยุโรป รวมถึงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยมีชาวอเมริกันจำนวนถึง 44% เชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่
• ก.พาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือน พ.ค.ขยายตัว 1.1% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดสั่งซื้ออุปกรณ์ในภาคขนส่งที่ขยายตัวอันเนื่องมาจากยอดจองเครื่องบินและยอดสั่งซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะซบเซา
• สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending home sales) ในเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้น 5.9% สู่ระดับ 101.1 เท่ากับระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2554 บ่งชี้ถึงสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวในช่วงขาขึ้น
• S&P เพิ่มอันอับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของรัสเซียมาอยู่ที่ระดับ A-2 ในขณะที่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวไว้ที่ BBB เนื่องจากยังคงมีความอ่อนแอทางโครงสร้างเศรษฐกิจและมีการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีราคาผันผวนสูง
• Standard Chartered รายงานว่า บริษัทในจีนกำลังขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับจากการขายสินค้า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะคาดกันว่าเงินหยวนจะแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่คาดว่าจะอ่อนค่าลง
• ธ.กลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (มาตรวัดการประเมินภาวะธุรกิจในปัจจุบันของผู้ผลิต) ในเดือน มิ.ย. ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 84 โดยผู้ผลิตของเกาหลีใต้ระบุว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรงลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการทำธุรกิจ
• สำนักข่าวยอน ฮัพ ของเกาหลีใต้ รายงานว่า อิหร่านอาจตัดสินใจยุติการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากเกาหลีใต้เพื่อแสดงการต่อต้านที่เกาหลีใต้จะระงับการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ตั้งแต่ 1 ก.ค.ปีนี้เป็นต้นไป
• ธปท.ระบุว่ายังไม่มีสัญญาณที่จะนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าบางแห่งมีการซื้อขายมากเป็นพิเศษ และถึงจะเกิดปัญหาฟองสบู่ขึ้นมาก็ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากฐานะของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันเข้มแข็งและมีเสถียรภาพกว่าในอดีตมาก
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1.165.98 จุด เพิ่มขึ้น 14.89 จุด หรือ 1.29% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31,347.82 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 156.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนบวก สืบเนื่องจากการเก็งผลการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป อีกทั้งดัชนีได้ปรับตัวลงไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยค่อนข้างทรงตัว โดยเคลื่อนไหวในช่วง 0.00% ถึง 0.01% แม้จะมีแรงเทขายพันธบัตรจากการเปิดเผยตารางการประมูลพันธบัตรรัฐบาลของ สบน. ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ มีการประมูลพันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อายุ 1 ปี จำนวน 26,000 ล้านบาทในวันนี้