ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 55 ปิดที่ระดับ 1,158.07 จุด เพิ่มขึ้น 30.97จุด หรือ 2.75% มูลค่าการซื้อขาย 30,693.33 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ ให้เหตุผลสำคัญต่อการปรับตัวแรงครั้งนี้ว่าเพราะได้รับปัจจัยบวกจากการที่สเปนประกาศขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงผลบวกจากการที่จีนประกาศลดอกเบี้ยลงทำให้คาดว่าปริมาณเงินจะเข้าสู่ระบบมากขึ้นโดยเฉพาะไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นการยอมรับในปัญหาของตนเอง ว่าไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองไม่ฝืนดื้อดึงแก้ไขต่อ ซึ่งอาจทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายยิ่งขึ้นของสเปนทำให้นักลงทุนคลายวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศยูโรโซนลงได้บ้าง...เพราะในที่สุด สเปนได้ยอมเข้ามาขอรับความช่วยเหลือเพื่อนำเงินไปอัดฉีดภาคธนาคารของประเทศแล้วแต่ไม่ใช่เงินกู้ช่วยเหลือจากกองทุนฉุกเฉินของสหภาพยุโรปเพียงแต่เป็นกองทุนปรับโครงสร้างธนาคารที่จะเข้ามาช่วยอัดฉีดให้กับภาคธนาคารของสเปนโดยตรงซึ่งไม่มีเงื่อนไขผูกมัดอย่างมาตรการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายภาครัฐและการปฏิรูปต่างๆจากไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป ที่ ไอร์แลนด์โปรตุเกส กรีซ ต้องปฏิบัติตาม เพราะทั้ง 3ประเทศขอกู้เพื่อช่วยเศรษฐกิจทั้งระบบ
ทั้งนี้ เบื้องต้น คาดกันว่าสเปนจะต้องขอวงเงินช่วยเหลือประมาณ 100,000ล้านยูโรในการอัดฉีดภาคธนาคาร โดยในระยะแรกคาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 40,000ล้านยูโร ซึ่งปัจจุบัน สเปนมีธนาคารเพียง 2 แห่ง เท่านั้นที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ นั่นคือบีบีวีเอ และ บังโก แชนเทนเดอร์
โดยจากวิกฤตด้านธนาคารของสเปนที่กำลังโป่งพองตลอดจนหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอีกทั้งภาระตกต่ำที่กัดกินสเปนลึกมากขึ้น ทำให้บริษัทจัด อันดับเครดิต อย่าง "ฟิทช์ เรตติ้ง" ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 3 ขั้น จาก A เป็น BBBและมีแนวโน้มอยู่ในเชิงลบ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับลงอีกถ้าหากสถานการณ์ยังเลวร้ายลง โดยมีเหตุผลว่า แดนกระทิงดุมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ของกรีซและยังเสี่ยงต่อปัญหาในภาคการเงินของประเทศ...และจากการถูกปรับลดอันดับครั้งล่าสุดก็มีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนสูงขึ้น โดยพันธบัตร อายุ 10ปีมีอัตราผลตอบแทนเป็น 6.177% จากก่อนหน้าอยู่ที่ 6.061%
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายหวังว่าการช่วยเหลือสเปนหนนี้จะทำให้สเปนรักษาคำมั่นสัญญาจะลดการขาดดุลงบประมาณ และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพราะสาเหตุที่ 17 ประเทศในยูโรโซนให้สเปนเข้ารับความช่วยเหลือครั้งนี้โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัดนั้น เพราะหากภาคธนาคารของแดนกระทิงล้มลงจะส่งผลลามมากระทบประเทศอื่นๆต่อ โดยเฉพาะอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มที่อาจจะไม่สามารถระดมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้จากตลาดอนุพันธ์ และจะทำให้อิตาลี จะเป็นรายต่อไป จากนั้นก็จะเป็นคิวของฝรั่งเศส และเยอรมัน
คำถามอยู่ที่ว่า เมื่อสเปนยอมรับความช่วยเหลือทางการเงินแล้วทุกอย่างจะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติหรือไม่...คำตอบในที่นี้คงไม่ใช่เพราะในเร็วๆนี้ ยังมีอีกสถานการณ์ที่นักลงทุนยังต้องจับตานั่นคือผลการเลือกตั้งรอบที่ 2ของกรีซที่เป็นตัวชี้วัดอนาคตของประเทศในหลายๆเรื่องทั้งฐานะการเงินการคลัง การแก้ปัญหาหนี้ การผิดนัดชำระหนี้และหนักที่สุดคือการออกจากกลุ่มยูโรโซน
ทุกวันนี้ กรีซ ก็ใช่ว่าจะดีขึ้น ล่าสุด S&P ออกมาเตือนว่ากรีซมีโอกาสถึง 1 ใน 3 ที่จะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนเพราะในระยะเวลาไมกี่เดือนจากนี้ เพราะกรีซอาจส่อเค้าผิดนัดชำระหนี้อีกหนถ้ายังปฏิเสธคำเรียกร้องของคณะกรรมการยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะทำให้ถูกระงับให้การช่วยเหลือด้านการเงินและจะส่งผลให้เกิดการบั่นทอนเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของกรีซอย่างรุนแรง...จุดนี้จะต้องติดตามการเลือกตั้งรอบ2ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ให้ดี ว่าพรรคไหนจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
แล้วหุ้นไทยล่ะ?...ต่อไปจะเป็นในทิศทางใด?
กำพล อดิเรกสมบัติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บล.ทิสโก้ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ความเสี่ยงที่มีมากขึ้นตอนนี้คงเป็นเรื่องของยุโรปที่อาจจะมากระทบกับการส่งออกหลังจากนี้คงต้องดูสถานการณ์ในยุโรปเป็นหลักว่าจะเป็นยังไง แต่มองว่า สุดท้ายแล้ว คงไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดทำให้ในครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์ในยุโรป ไม่ได้รุนแรงมากและอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวได้ดี ก็มีโอกาสที่แบงก์ชาติจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง ในไตรมาสสุดท้าย ไปที่ 3.50%
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กองทุนรวม บล. ฟิลลิป(ประเทศไทย) กล่าวว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังมีความเสี่ยงจากผลการเลือกตั้งของกรีซและการช่วยเหลือภาคธนาคารของสเปนซึ่งทั้งสองเหตุการณ์อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
ทำให้ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่หากภาพดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นชัดเจนราคาสินทรัพย์เสี่ยงอาจจะฟื้นตัวได้
"ที่ผ่านมาหุ้นปรับตัวขึ้นบนความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปรวมถึงที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ตอบรับข่าวร้ายไปพอสมควรแล้วแต่สถานการณ์ยังมีโอกาสเลวร้ายจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งจึงต้องระมัดระวังความผันผวน เพราะการฟื้นขึ้นมายังเปราะบาง"
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับโอกาสในความผันผวนของดัชนีที่ยังมีอยู่มากหากมองกลับเป็นโอกาส เครื่องมือที่น่าสนใจเพื่อตอบโจทย์ในภาวะเช่นนี้ได้คือ ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) TFEXซึ่งจากการเคลื่อนไหวแบบขึ้นแรงลงแรงของดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้แนวโน้มการลงทุนช่วงเดือนพฤษภาคมของTFEXมีปริมาณการซื้อขายรวมทั้งสิ้น1,059,164 สัญญาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดือนเมษายน ที่มีปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น587,459สัญญา...ดังนั้นทางที่ดี หันมาป้องกันความเสี่ยงผ่านเครื่องมือของTFEX สักหน่อย น่าจะพอช่วยอุ่นใจได้บ้าง