xs
xsm
sm
md
lg

คาดกรีซอาจหลุดออกจากกลุ่มอียู ส่งผลสินทรัพย์เสี่ยงยังผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์กองทุนรวมประเมิน มีความเป็นไปได้ที่กรีซจะหลุดออกจากกลุ่มอียูมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันในการแก้ปัญหาหนี้ ส่งผลให้ระยะสั้นสินทรัพย์เสี่้ยงยังผันผวนสูง

นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund Super Mart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรีซจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ และแนวโน้มที่กรีซมีโอกาสหลุดออกจากกลุ่มยูโรโซนมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ปัญหาของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปที่โดนลดอันดับความน่าเชื่อถือได้เพิ่มความวิตกกังวลให้นักลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่การประชุมกลุ่ม G8 เราได้เห็นความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศเยอรมนี กับฝรั่งเศสที่นำโดยประธานาธิบดีคนใหม่อย่างชัดเจน สร้างความกังวลต่อแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปไร้ทิศทางที่แน่นอนมากขึ้น ปัจจัยลบในยุโรปดังกล่าวยังเป็นที่จับตาของนักลงทุนต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้นยังคงอ่อนไหว โอกาสผันผวนมีสูง ทำให้เรายังคงคำแนะนำให้ระมัดระวังการเก็งกำไรระยะสั้นในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป

ขณะที่ระยะยาวเรายังคงแนะนำให้ Wait and See ต่อไป และรอจังหวะเข้าสะสมสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้งเมื่อมีโอกาส โดยช่วงนี้ยังแนะนำให้พักเงินลงทุนไว้ในกองทุนตลาดเงิน PCASH ของ บลจ.ฟิลลิป ตามเดิม ทั้งนี้ เราคาดว่าจะมีโอกาสที่จะได้กลับเข้าสะสมกองทุนตลาดเกิดใหม่ สำหรับกองทุนทองคำมีการปรับตัวขึ้นดีดกลับไปแถว $1,600 US/oz อีกครั้ง หลังดิ่งลงไปแถว $1,520 US/oz ราคา ณ ปัจจุบัน (21 พ.ค. 55) เรายังคงแนะนำให้ทยอยสะสมได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะสั้นราคาทองคำยังมีโอกาสผันผวนได้อยู่ เราจึงแนะนำหากนักลงทุนมีการทยอยสะสมไปบ้างแล้ว อาจรอจังหวะกลับเข้าสะสมอีกครั้ง แนวรับแถว $1,500 US/oz กองทุนทองคำที่แนะนำยังคงเป็น TGoldBullion-H และ TGoldBullion-HRMF ของ บลจ.ธนชาต

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงพลิกกลับจากสถานการณ์ตอนนี้ได้ ท่ามกลางโอกาสที่ดูจะมีเพิ่มขึ้นว่า กรีซจะผิดนัดชำระหนี้จนหลุดออกจากกลุ่มยูโรโซน และคาดว่าจะสร้างความเสียหายกระจายออกไปสู่ยุโรปและเศรษฐกิจโลก ขณะที่ PIIGS อื่นๆ อย่างสเปน และอิตาลี อาการไม่สู้ดีเช่นกันเมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดี้ส์” ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารอิตาลี 26 แห่ง และตามมาด้วยธนาคารสเปนอีก 16 แห่ง สร้างความกังวลให้นักลงทุนอย่างมากว่าปัญหาจะขยายวงออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นยุโรปจึงปรับตัวกันขนานใหญ่

นอกจากนี้ ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการที่ยุโรปมีโอกาสถดถอยลึกกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะชะลออย่างต่อเนื่อง (Soft Landing) และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดตอกย้ำถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน รวมถึงการขาดทุนจำนวนมากของเจพีมอร์แกน (JPMorgan) สร้างความไม่มั่นใจให้นักลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดนกดดันจากทั้งปัจจัยยุโรป และของตัวเอง
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น