xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง วันที่ 13 มิถุนายน 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• Fitch Ratings เตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มประเทศยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลงอย่างรุนแรง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายดูเหมือนจะยังไม่สามารถจัดการวิกฤตหนี้ของภูมิภาคได้ และหากยังไม่มีสัญญาณแห่งความหวังในเร็วๆ นี้ ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ยูโรโซนจะล่มสลาย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกอื่นๆ แม้แต่ประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ AAA

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542 ที่ระดับ 6.79% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการให้ความช่วยเหลือวงเงิน 1 แสนล้านยูโร แก่ภาคธนาคารของสเปนนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้

• Fitch Ratings ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารสเปน 18 แห่ง จากการที่สเปนถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนกับการคาดว่าเศรษฐกิจสเปนจะยังคงถดถอยต่อไปจนถึงปีหน้า รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าสเปนจะได้รับจัดสรรเงินกู้จำนวน 1 แสนล้านยูโรเพื่อจัดการภาวะขาดทุนในภาคการธนาคารแล้วก็ตาม

• สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษในเดือนเมษายนไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมีนาคม แต่ลดลง 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อังกฤษจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานยิ่งขึ้น

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ราคาสินค้าเข้าเดือนพฤษภาคมลดลง 1.0% จากเดือนเมษายน และลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน ซึ่งเป็นสถิติที่ติดลบในรายปีครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552

• ชาร์ลส อีแวนส์ ประธาน FED สาขาชิคาโก สนับสนุนการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องการให้ FED ระบุอย่างชัดเจนว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าอัตราว่างงานของสหรัฐฯ จะต่ำกว่า 7% หรือหากเงินเฟ้อสูงกว่า 3% จากเป้าที่กำหนดไว้ที่ 2%

• แมนเพาเวอร์ อิงก์เปิดเผยผลสำรวจว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จากการที่ดัชนีการจ้างงานในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 11% ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยบรรดานายจ้างในทุกภูมิภาคและทุกภาคอุตสาหกรรมมีมุมมองบวกเรื่องการจ้างงานมากที่สุดนับแต่ปี 2551

• ธนาคารเนชันแนลออสเตรเลีย (NAB) เปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีสภาวะทางธุรกิจในเดือนพฤษภาคมของออสเตรเลียดิ่งสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีไปอยู่ที่ -4 จุด จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในยูโรโซนที่ชะลออุปสงค์ทั่วโลกลง

เศรษฐกิจเอเชีย

• IMF ระบุว่า ญี่ปุ่นควรฟื้นฟูการคลังด้วยการขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคจาก 10% เป็น 15% หรือมากกว่า โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 2.0% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้าตามอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมองว่าค่าเงินเยนในขณะนี้แข็งไป BOJ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายเงินเฟ้อ 1% ควรใช้ถึงปี 2560 เท่านั้น

• S&P เปิดเผยว่า อินเดียอาจเป็นประเทศแรกในกลุ่ม BRIC ที่สูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือในระดับการลงทุน (Investment Grade) เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่อุปสรรคทางการเมืองส่งผลให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

• ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.75% เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันตามคาด เนื่องจากให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงนอกประเทศ ทั้งวิกฤตหนี้สินในยุโรปและการชะลอตัวของเอเชีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในเป้าหมาย 3.5-5.5% จากการลดลงของราคาน้ำมันโลก

• ที่ประชุม ครม.ไทยมีมติให้เสนอร่าง พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 19 มิถุนายน พร้อมทั้งจะไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติในสมัยประชุมนี้ โดยจะเลื่อนไปพิจารณาในสมัยการประชุมสามัญนิติบัญญัติหน้าที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม

• IMF รายงานว่า ไทยกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 5.5% ในปีนี้ และ 7.5% ในปีหน้า โดยมีนโยบายการเงินและการคลังเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่

1) เศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศคู่ค้า
2) การใช้จ่ายของรัฐบาลหากไร้ประสิทธิภาพอาจกระทบการลงทุนภาคเอกชน
3) ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิผลเพื่อไม่ให้กระทบความสามารถในการแข่งขัน อันเนื่องมาจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

Equity Market

• SET Index ปิดที่ 1,162.93 จุด เพิ่มขึ้น 4.86 จุด หรือ +0.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 29,116.19 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,286.09 ล้านบาท โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยแกว่งตัวผันผวนและแตะจุดต่ำสุดของวันอยู่ที่ 1,145.48 จุด ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงท้ายตลาดส่งผลดัชนีปิดตลาดในระดับสูงสุดที่ 1,162.93 จุด เนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองในประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ในขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศยังเป็นความกังวลต่อวิกฤตหนี้สินของยูโรโซน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ควรติดตามวันนี้ได้แก่การประชุมของ กนง. ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิม

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อยในช่วง 0.00% ถึง -0.02% สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ในการประชุมวันนี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวน้อยกว่าคาด ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป

• จีนจะผลักดันให้ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นช่องทางให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการเงินทุนนอกจากการกู้ยืมจากธนาคารของภาครัฐที่ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 75% ของยอดการกู้ยืมทั้งหมดในประเทศ

Commodity Corner

• โกลด์แมนแซคส์คาดว่า การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะให้ผลตอบแทนประมาณ 29% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยกลุ่มพลังงานและวัตถุดิบอุตสาหกรรมจะให้ผลตอบแทนสูงสุด เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวได้สูง ในขณะที่ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปจะคลี่คลายลง

• OPEC คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จะไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ที่ท้าทายทั่วโลก โดยที่สาเหตุหลักของความไม่แน่นอนมาจากวิกฤตยูโรโซนและภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ในขณะที่อุปทานน้ำมันยังมีความมั่นคงอยู่อย่างต่อเนื่อง

Guru Corner

• Nouriel Roubini มองต่างจากผู้นำยุโรป โดยระบุว่า หากอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้นควรลดภาษี และเพิ่มเงินเดือน แทนที่จะเอาแต่รัดเข็มขัดกับประหยัดเงิน และเยอรมนีควรสนับสนุนให้ประชาชนไปท่องเที่ยวในยุโรปทางใต้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น