xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ. บัวหลวง วันที่ 3 พฤษภาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 3 พฤษภาคม 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนปรับตัวลงสู่ระดับ 45.9 จุดในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2552 แสดงถึงภาคการผลิตในยูโรโซนที่ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะของอิตาลีที่ลดลงค่อนข้างแรง และหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แล้ว

• อัตราว่างงานในกลุ่มประเทศยูโรโซนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.9% ในเดือน มี.ค. จากเดิม 10.8%ในเดือน ก.พ. และเป็นระดับสูงสุดนับแต่เริ่มมีการใช้เงินยูโรในปี 2542 โดยสเปนยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราว่างงานสูงสุดที่ 24.1% ส่วนอัตราว่างงานของอิตาลีได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.8% จาก 9.6% ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ อัตราว่างงานของสเปนเกือบจะเท่ากับของสหรัฐในยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ที่เคยสูงถึง 25%แล้ว

• ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.608% จากความกังวลของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจยุโรปที่อาจจะย่ำแย่ลงอีก หลังจากการประกาศตัวเลขภาคการผลิตในเดือน เม.ย.ของประเทศแถบยุโรปที่แย่กว่าคาด

• S&P’s ประกาศเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซเป็น "CCC" โดยให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวเป็น ‘เสถียรภาพ’ จากเดิมที่ระดับ ‘ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน’(selective default) หลังจากที่กรีซเสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือที่ CCC นับว่ายังอยู่ในระดับขยะ (Junk)

• การเลือกตั้งใหญ่ในกรีซที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้กำลังทวีความสำคัญต่ออนาคตในการคงอยู่ของกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากมี 2 พรรคใหญ่ที่ใช้นโยบายหาเสียงว่าจะต่อรองเนื้อหาในบันทึกข้องตกลงกู้ยืมเงินกับ IMF เสียใหม่

จึงเพิ่มความเสี่ยงที่ IMF กับ EU จะยังไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ ซึ่งจะยิ่งทำให้ตลาดยุโรปย่ำแย่ลงไปอีกมาก

• ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่ 3.75%

เศรษฐกิจเอเชีย

• S&P’s เปิดเผยว่า ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุนด้านเชื้อเพลิงจะมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการให้เงินสนับสนุนด้านราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาอ่อนไหวตามตลาดโลก ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดความน่าเชื่อถือถ้าราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนานกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายใช้เงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนสินค้าเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับบางประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น มาเลเซีย จึงทำให้ไทยไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

• รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรพลังงานและแร่ธาตุของอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียมีแผนจะเก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์แร่ 14 ชนิด เช่น ทองแดง ทองคำ เงิน ดีบุก ตะกั่ว ในอัตราระหว่าง 20-50% หากมีการจำหน่ายในรูปสินแร่ เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้บริษัทเหมืองแร่จำหน่ายแร่ในรูปสินแร่

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเก็บภาษีการส่งออกถ่านหินอีกด้วย 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนานกว่า 1 ปี

• กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 55 เพิ่มขึ้น 2.47% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 3.16% ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 3.6%

• ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 3 ปีนี้ และคาดว่าไม่น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะขยายตัว 6.0-6.5% ตามการขยายตัวของการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ซึ่งการฟื้นตัวจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการที่พม่าเริ่มเปิดประเทศก็อาจส่งผลให้แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยย้ายกลับประเทศของตนเอง

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 มีแนวโน้มชะลอลงอันเป็นผลจากฐานเงินเฟ้อสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ช่วงครึ่งหลังของปีอาจจะสูงกว่า 4.0% เนื่องจากค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ราคาพลังงานและวัตถุดิบบางประเภทน่าจะสูงขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการต้องผลักภาระต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเพิ่มราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค

จึงมีความเป็นไปได้ที่ทาง ธปท.อาจจะเริ่มกลับมาส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นในช่วงท้ายของปีนี้

• ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เป็น 5.6-5.8% เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมฟื้นได้เร็วและการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะภาคการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง และต้นทุนการกู้ยืมที่อาจแพงขึ้น

จึงคาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะเป็น 3.5-4.0%

Gold Corner

• ความต่างกันของผู้ลงทุนในทองคำคือ ส่วนหนึ่งเป็นผู้เก็งกำไรซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของการลงทุนผ่าน ETF กับ Futures (Paper Gold) กับอีกส่วนที่เป็นผู้ลงทุนในทองคำตัวจริงซึ่งมักถือครองทองคำโดยตรง (Physical Gold)

• จากรายงานเดือนเมษายนที่ผ่านมา Sprott Asset Management ชี้ว่า ตลาด Physical Gold มีความเคลื่อนไหวที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก Hong Kong สั่งซื้อทองคำส่งไปยังจีนเกือบ 40 ตันในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงขึ้น 13 เท่าของเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จีนยังนำเข้าทองคำสูงขึ้นถึงเกือบ 8 เท่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนอีกด้วย

ทั้งนี้ IMF ระบุว่ามี 12 ประเทศที่ซื้อทองคำรวมกันถึง 58 ตันในเดือนที่แล้ว นำโดย Mexico, Turkey, Russia และ Kazakhsatn ซึ่ง Sprott Asset Management ชี้ว่า ไม่มีทางที่ราคาทองคำจะไม่ขึ้นในระยะยาวจากความต้องการใน Physical Gold ที่สูงขนาดนี้

และแม้ว่า Cheviot Asset Management จะประเมินว่ามี Open Position ถึง 100 สัญญาในตลาด Paper Gold ต่อ Physical Gold 1 แท่ง อันจะทำให้ราคาทองคำผันผวนสูงต่อไปอีก แต่ในไม่ช้าความต้องการถือครอง Physical Gold อย่างแท้จริงของผู้ลงทุนระยะยาวจะมีแรงเหนือกว่าการเก็งกำไร เนื่องจากมีผู้ต้องการทองคำจริงรายใหญ่ที่พร้อมจะรับซื้อ Physical Gold อยู่เสมอ

Guru Corner

• Mark Faber : “ตลอดช่วง 40 ปีที่มีประสบการณ์แวดวงการเงิน ผู้คนไม่เคยขาดความเชื่อถือในตลาดในฝ่ายกำกับตลาด และสถาบันการเงิน โดยสิ้นเชิงอย่างนี้มาก่อน

พวกเขาคิดว่า FED ผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ และ Traders กำลังเป็นผู้กำหนดทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ FED เองก็ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจริง (อันเป็นการ Manipulate ตลาด)”
กำลังโหลดความคิดเห็น