xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News จาก บลจ.บัวหลวง วันที่ 30 เมษายน 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 30 เมษายน 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• อิตาลีสามารถประมูลขายพันธบัตรอายุ 5 และ 10 ปี ได้ทั้งหมด 5.95 พันล้านยูโร แต่ความต้องการของผู้ลงทุนลดลงเหลือ 1.34 และ 1.48 เท่าตามลำดับ ด้วยผลตอบแทนที่ปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดของปีที่ 4.86% และ 5.84% ทั้งนี้ ในเดือนก่อนมีความต้องการ 1.65 เท่าทั้ง 2 รุ่น

• การใช้จ่ายของผู้บริโภคฝรั่งเศสลดลงเหลือ 2.9% ในเดือนมีนาคม เป็นผลจากการใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่มที่หดตัวลง 2.5% และพลังงานหดตัวลง 11.3% เนื่องจากอากาศหนาวกว่าปกติในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวสูงขึ้น

และหากนับรวมไตรมาสแรกของปี พบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลงกับอัตราว่างงานในระดับสูง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี ที่กำลังพยายามจะรักษาตำแหน่งอีกหนึ่งสมัยในการเลือกตั้งวันที่ 6 พฤษภาคมนี้

• อัตราว่างงานของสเปนในไตรมาสแรกของปีเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 24.4% จาก 22.9% ซึ่งเป็นอัตราว่างงานที่สูงที่สุดในสหภาพยุโรป และเข้าใกล้อัตราการว่างงานที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสที่ 24.55% ในเดือนมีนาคม 2537

ทั้งนี้ รัฐบาลได้สูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีประมาณ 953 ล้านยูโร ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันความพยายามในการลดการขาดดุลงบประมาณของสเปน

• รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของสเปนระบุว่า สเปนไม่มีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากยุโรป เพราะเชื่อว่าการทำ LTRO ทั้งสองครั้งของ ECB ได้ช่วยให้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินของสเปนมีอยู่มากเพียงพอแล้ว

• GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีเติบโต 2.2% ชะลอตัวลงจาก 3% ในไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว โดยการอุปโภคบริโภคของประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงลดลงอีก 5.9% และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน

• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นสู่ 76.4 จุด จาก 76.2 จุดในเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งทำให้การจ้างงานมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลงหลังขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยทั้งดัชนีคาดการณ์ผู้บริโภคและดัชนีชี้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจระยะ 5 ปีมีทิศทางสูงขึ้นสู่ระดับ 72.3 จุด และ 92 จุดตามลำดับ

เศรษฐกิจเอเชีย

• ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเพิ่มวงเงินซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลอีก 10 ล้านล้านเยน เป็น 40 ล้านล้านเยน และขยายระยะเวลาไปจนถึงมิถุนายนปีหน้า เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นหลังเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว

เป็นความพยายามยุติภาวะเงินฝืดหลังญี่ปุ่นต้องเผชิญมานานหลายปี ทั้งนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 เป็น 2.3% และ 1.7% ตามลำดับ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นสู่ระดับเป้าหมายที่ 1% ได้ในปี 2557

• ยอดการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในปี 2554 เท่ากับ 9,267,037 คัน เพิ่มขึ้น 3% แบ่งเป็นรถโดยสาร 7.91 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.2% รถบรรทุก 1.24 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.5% และรถบัส 0.11 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.9%

ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เป็นต้นมา หลังต้องหยุดการผลิตหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2554

• สหภาพยุโรปเปิดสำนักงานผู้แทนอย่างเป็นทางการในย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อตอบรับการปฏิรูปต่างๆ และแสดงถึงการสนับสนุนของสหภาพยุโรปต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในพม่า

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ก่อนสหภาพยุโรปได้ระงับมาตรการคว่ำบาตรเกือบทั้งหมดต่อพม่าเพื่อแสดงการยอบรับต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติได้เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน

• กรมสรรพสามิตรายงานผลการจัดเก็บภาษีในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ต.ค. 54-มี.ค. 55) ว่ามีมูลค่ารวม 179,247 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4.9% จากภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ยังอยู่ในช่วงการฟื้นฟู แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่นโยบายการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลได้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ 16.4% โดยที่จัดเก็บได้สูงสุด 3 อันดับแรกในรอบ 6 เดือน คือ ภาษีรถยนต์ 42,971 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 34,610 ล้านบาท และภาษียาสูบ 31,838 ล้านบาท

Equity Market

• SET Index ปิด 1,211.78 จุด เพิ่มขึ้น 2.51 จุด หรือ 0.21% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 24,691.43 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายวงเงินซื้อคืนพันธบัตรของธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่มีแรงกดดันจากความกังวลต่อเศรษฐกิจสเปนหลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก S&P’s

• กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า กระทรวงการคลังไต้หวันมีแผนจัดเก็บภาษีใหม่ที่นักลงทุนรายย่อยจะต้องเสียภาษีเมื่อมีกำไรจากการลงทุนอย่างน้อย 4 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (135,600 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งปรับขึ้นจาก 3 ล้านดอลลาร์ไต้หวันตามแผนเดิม

ทั้งนี้ อัตราภาษีขั้นสุดท้ายจะอยู่ระหว่าง 15-20% จากระดับ 20% ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อยจะได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีซื้อขายสัญญาล่วงหน้าด้วย ซึ่งหากรัฐสภาอนุมัติ ก็จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ใน -0.02% ถึง 0.00% โดยพันธบัตรอายุ 1-10 ปีมีอัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวลดลง สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 30 / 90 / 180 วัน และ 1 ปี มูลค่ารวม 118,000 ล้านบาท

Guru Corner

 Peter Schiff

วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าทำอย่างไรถึงจะสนองตอบความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดได้ด้วยทรัพยากรอันจำกัด

การพิมพ์แบงก์ออกมาก็เหมือนการเก็บภาษีมากขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะแทนที่รัฐบาลจะขโมยเงินประชาชนด้วยการขึ้นภาษี รัฐบาลกลับทำทางอ้อมด้วยการพิมพ์แบงก์แล้วทำให้กำลังซื้อของพวกเราลดลง

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็เป็นศัตรูตัวใหญ่สุดของเศรษฐกิจ ที่จริงแล้ว Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางนั่นแหละที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของคนอเมริกัน ประเทศนี้จึงไม่มีทางฟื้นจริงหากเขายังอยู่ในตำแหน่งนี้

 Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

Stiglitz กล่าวบนเวทีสัมมนาที่กรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาว่า ...

“มาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ กำลังจะนำยุโรปไปสู่เส้นทางหายนะ อันเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะการรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงและเฉียบพลันจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงไปอีก ซึ่งจะยิ่งทำให้หนี้เพิ่ม ไม่ใช่ทำให้ลด และจะทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกดดันทางการเมืองที่ยอมรับไม่ได้ สุดท้ายก็จะยิ่งทำให้การขาดดุลย่ำแย่ลงไปอีก

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลในกลุ่มยูโรโซนตกลงกันไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาก็คือ .....ใบสั่งที่มั่นใจว่าจะส่งยุโรปไปสู่ความตาย”
กำลังโหลดความคิดเห็น