xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวรรณ ธาราภูมิ
คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 26 เมษายน 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป โดยจะเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญแล้วเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ยังฟื้นตัวในระดับปานกลาง และคาดว่าการเติบโตจะอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องไปได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่มเติม (QE3) แต่อย่างใด

• ยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซในปีก่อนอยู่ที่ 9.1% ของ GDP ลดลงจาก 10.3% ในปีก่อนหน้า และยอดหนี้สาธารณะในปีที่แล้วอยู่ที่ 165.3% ของ GDP โดยแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณที่ลดลงนี้สอดคล้องกับการประเมินของกรีซและองค์กรระหว่างประเทศ

• GDP ของอังกฤษในไตรมาส 1 ปีนี้หดตัว 0.2% หลังจากที่หดตัว 0.3% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจได้กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2552

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 1 นี้ยังเป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ซึ่งคำนวณจากข้อมูลเพียง 40% ของข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการคำนวณ GDP

• Dylan Grice (Societe Generale) เตือนว่า ออสเตรเลียควรระมัดระวังเมื่อมีผู้เรียกว่าเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ เนื่องจากประเทศนี้ได้ประโยชน์จากตลาดกระทิงของสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งทำให้เกิดฟองสบู่ด้าน Credit อันเกิดจากฟองสบู่ด้าน Credit ของจีนอีกต่อหนึ่ง

• Stephen King (นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าสุดของ HSBC) ชี้ถึง Financial Repression การกดขี่ระบบการเงินที่กำลังเป็น Topic ที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ด้วยข้อสรุปว่า

“ระบบการเงินกำลังโดนขึงพืดมากขึ้นจากการที่รัฐบาลใช้กรรมวิธี Financial Repression ต่างๆ โดยรัฐบาลกำลังหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยรับภาระหนี้จำนวนมหาศาล”

ซึ่งหมายความว่า เมื่อรัฐบาลในประเทศใหญ่ๆ ฝั่งตะวันตกกำลังบริหารประเทศอยู่บนหนี้จำนวนมาก ก็จะต้องหากลวิธีที่จะได้เงินมหาศาลมาช่วยพยุงหนี้ไว้ เช่น ใช้มาตรการ QE หรืออะไรอื่น ซึ่งเป็นการทำร้ายผู้ฝากเงิน เพราะรัฐบาลต้องกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำมากๆ

เศรษฐกิจเอเชีย

• สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอินเดียลงมาอยู่ที่ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” โดยระบุว่าอินเดียลดการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างช้า และดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเติบโตในปีนี้จะอยู่ที่ 5.3% ต่ำกว่าที่รัฐบาลอินเดียคาดว่าจะเป็น 7.3% และ S&P มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือของอินเดีย

• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้ของเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 104 จุด เพิ่มขึ้น 3 จุดจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และความมีเสถียรภาพของดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

นอกจากนี้ เงินเฟ้อของเกาหลีใต้ก็ได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 3.8%

เศรษฐกิจไทย

• คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) งวดใหม่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 30 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 3.50 เป็น 3.80 บาทต่อหน่วย สูงสุดของประเทศตั้งแต่มีไฟฟ้าใช้ โดยเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น และระบุว่าการขึ้นราคานี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะ กฟผ.ยังต้องรับภาระอีก 19.05 สตางค์ต่อหน่วย

จึงมีแนวโน้มที่ค่าไฟฟ้าในเดือนกันยายน-ธันวาคม จะถูกขึ้นอีก แต่จะไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าการปรับในรอบนี้

• ก.คลังเปิดโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม ถึง 20 สิงหาคม ปีนี้ โดยรัฐบาลประเมินว่าจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 0.4-0.7% ต่อปี หรือ 44,000-77,000 ล้านบาทต่อปี

• กบข.เตรียมเข้าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ 2% ของพอร์ตลงทุนหรือประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแผนจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบยุโรป สหรัฐฯ และอเมริกาเหนือ หลังจากที่ราคาลดลงมากจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นโอกาสของการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าผลตอบแทนไม่ต่ากว่า 10% ต่อปี

Equity Market

• SET Index ปิด 1,201.36 จุด เพิ่มขึ้น 1.50 จุด หรือ 0.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 31,395 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 911 ล้านบาท โดยหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ โดยเฉพาะธุรกิจร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วหน้า

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มสื่อและบันเทิงก็มีแรงซื้อเข้ามามากเช่นกัน ในขณะที่มีแรงขายออกมาในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และพลังงาน

• จรัมพร โชติกเสถียร ผจก.ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเสนอให้ ก.คลังพิจารณาลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด mai ลงอีก 3% เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ SME เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะการเข้าสู่ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

• โบอิ้ง บริษัทอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในโลก มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/55 เพิ่มขึ้น 58% อยู่ที่ 923 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากบริษัทสามารถส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ได้มากขึ้น และได้เพิ่มกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ 137 ลำในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 3-20 ปี โดยเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 0.00% ถึง 0.04% ส่วนรุ่นอื่นๆ มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 2 ปี มูลค่า 50,000 ล้านบาท

Guru Corner

• Ben Bernanke

ในการแถลงข่าวหลังประชุม FOMC วานนี้ ผู้สื่อข่าวถาม Ben Bernanke ประธาน FED ว่าจะตอบอย่างไรเมื่อคนบ่นว่า “ที่คุณทำไปนั้นมันยังไม่พอ“ (you aren't doing enough)

Ben ให้คำตอบ 2 ประโยค คำตอบแรกคือ FED ทำไปมากแล้ว และบ่งชี้ว่าจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินสุดๆ ไปอีกนานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนประโยคที่สองใช้คำตอบ 5 พยางค์ที่น่าทึ่งว่า .....

“We're prepared to do more.” (เราเตรียมพร้อมที่จะทำมากกว่านี้)

• Paul Krugman

Krugman เขียนในบล็อกของเขาวานนี้ว่า เมื่อ David Cameron เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขาได้ประกาศแผนรัดเข็มขัดที่ทำให้คนเชื่อมั่น ทำให้หลายคนบอกให้ Barak Obama ใช้แผนอย่าง Cameron บ้าง

แต่วันนี้ อังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนแล้ว (Double-Dip Recession) และแย่กว่าที่อังกฤษเคยเป็นในช่วง 1930s แต่ Cameron แก้ตัวว่า “ผลจากการรัดเข็มขัดยังมาไม่ถึง”

ซึ่ง Krugman วิจารณ์ว่า นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่ดี เพราะการรัดเข็มขัดจะได้ผลก็ต่อเมื่อคนยังมีความเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ความเชื่อมั่นไม่เหลือแล้ว อันหมายความว่า อังกฤษจะเดินหน้าไปสู่ความตายเพราะการรัดเข็มขัดที่ทำลายตนเอง

• Nouriel Rubini

ประเทศต่างๆ ในยูโรโซนจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดของการลดหนี้ลงด้วยมาตรการที่ให้ใช้จ่ายน้อยลง กับต้องออมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อลดหนี้ให้ได้

แต่ผลของมันจะทำให้การบริโภคภาคครัวเรือน กับการลงทุนโดยภาคเอกชนและภาครัฐลดลงตามไปด้วย

ความหวังเดียวที่จะช่วยให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดนี้ไปได้ก็คือ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตด้วยการทำให้ดุลการค้าดีขึ้น (ส่งออก มากกว่า นำเข้า) นั่นก็คือ เงินยูโรจะต้องอ่อนลงกว่านี้มาก จึงจะทำได้สำเร็จ

(หมายถึงการออกจากกลุ่มยูโร แล้วลดค่าเงินของตนเองลงเพื่อให้สามารถแข่งขันทางการค้าได้ดีขึ้น)
กำลังโหลดความคิดเห็น