xs
xsm
sm
md
lg

“คนไทย” จ๊าก! ฝีมือ “รบ.ปู” แพงทั้งแผ่นดิน “อารักษ์” วอนรับความจริง 27 เม.ย.สรุปราคาพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“อารักษ์” ยันโครงสร้างราคาพลังงานชัดเจน 27 เมษายนนี้แน่นอน ฝากวอนประชาชนเข้าใจ ค่าไฟเพิ่มอีก 40 สตางค์ต้องยอมรับความเป็นจริง “ผู้ประกอบการ” จ๊าก! ฝีมือบริหาร “รบ.ปู” ทำต้นทุนพุ่งขึ้นทุกด้าน ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ค่าน้ำมัน-ก๊าซ แถมโดนค่าไฟซ้ำ คาดต้องปรับราคาสินค้า 5% พร้อมหาตลาด-เพิ่มยอดขาย ขณะที่ กฟผ. ลั่นคนไทยจะไม่เห็นค่าไฟถูกลงอีกต่อไป

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการดูแลราคาพลังงาน โดยยืนยันว่าในวันที่ 27 เมษายน 2555 นี้ตนจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในส่วนของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และเชื้อเพลิงธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) หลังจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาแล้วเสร็จ โดยต้องได้ข้อสรุปภายในวันที่ 27 เมษายน 2555 หรืออย่างช้าวันที่ 30 เมษายน 2555 เพื่อให้ทันต่อการปรับโครงสร้างราคาพลังงานรอบถัดไปที่จะมีผลช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

ส่วนการพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) ในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มีการหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเรเตอร์ ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งแนวโน้มต้องปรับขึ้นตามต้นทุน โดยกระทรวงได้ให้นโยบายให้พิจารณาการปรับค่าไฟให้สะท้อนต้นทุน และขอให้ประชาชนยอมรับความเป็นจริง

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.กล่าวว่า การที่คณะกรรมการ กกพ.จะมีมติปรับขึ้นค่าเอฟทีในวันนี้อีกประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย จะกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน

“ตรงนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ภาคเอกชนกำลังกังวล เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้าในการผลิตเป็นจำนวนมาก เท่าที่ติดตามราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น”

ดังนั้น กกพ.ควรพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้รอบด้าน โดยเฉพาะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงประชาชนที่จะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเพิ่มต้นทุนให้ภาคครัวเรือน

ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนหลักในการผลิต ทั้งด้านราคาพลังงาน ก๊าซ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงงานยืนยันไม่ปรับลดคนงานและแรงงานในภาพรวมยังขาดแคลน

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่เกิดจากการฟื้นฟูหลังอุทกภัยปีที่แล้วที่ต้องลงทุนสำหรับเครื่องจักรใหม่ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ผูกติดกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขาย

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมรับว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าในอนาคต คนไทยคงจะไม่ได้เห็นค่าไฟในราคาที่ถูกลงแล้ว เพราะราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟ มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริง

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทย จะใช้ไฟฟ้าราคาที่ถูก ก็จะต้องมีการปรับโครงสร้างกระบวนการผลิตไฟที่จะต้องหันมาพึ่งพาถ่านหินที่ทั่วโลกนิยมใช้กัน จากปัจจุบัน พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ก็ถูกกระแสต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฟผ. ก็จะมีการทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้ง หน่วยงานต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วย

ผู้ว่าการ กฟผ. ยังได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยอมรับว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ทำให้ กฟผ. ไม่เร่งรัดที่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เนื่องจาก จะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้น เพราะโอกาสที่ประเทศไทย จะประสบเหตุการณ์เดียวกับญี่ปุ่นนั้น เป็นไปได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น