“เรกูเลเตอร์” เคาะขึ้นค่า “เอฟที” ไฟฟ้ารอบใหม่ งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม อัตรา 30 สตางค์/หน่วย จากต้นทุนจริง 57.45 สตางค์/หน่วย โดยให้ กฟผ.รับภาระต่ออีก 19 สตางค์ ซึ่งอาจจะเกลี่ยคืนงวดหน้ายาว 1 ปี ส่งผลให้เอฟทีงวดต่อไปยังปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 5 สตางค์ต่อหน่วย และยังปรับขึ้นตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นด้วย
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงผลการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 โดยที่ประชุมฯ วันนี้มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตรา 30 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไทย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.23 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้างวดใหม่เฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 3.53 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดของประเทศตั้งแต่เคยใช้ไฟฟ้ามา
“ค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ทำให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7-8 ดังนั้น ถ้าค่าไฟบ้านเฉลี่ย 100 บาทต่อเดือนก็จะเพิ่ม 7-8 บาทต่อเดือน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนอกจากมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ก้าวกระโดดตามราคาน้ำมัน และยิ่งประชาชนเปิดแอร์มากในช่วงหน้าร้อนค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยงวดนี้เพิ่มขึ้น 8.63 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 301.28 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 ขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้างวดใหม่จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากงวดที่ผ่านมาที่มีการใช้ไฟฟ้า 51,955 ล้านหน่วย และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ค่าเอฟทีงวดใหม่ที่ปรับขึ้นเพียง 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการปรับขึ้นต่ำกว่าอัตราที่แท้จริง ที่ต้นทุนอยู่ที่ 57.45 สตางค์ต่อหน่วย โดยแบ่งออกเป็นต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้างวดนี้ 38.40 สตางค์ต่อหน่วย และค่ารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) รับภาระงวดที่แล้ว (มกราคม-เมษายน) จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ กกพ.ยังได้มีมติให้ กฟผ.ยังคงรับภาระ 19.05 สตางค์ต่อหน่วยต่อไปอีกในงวดนี้ และเมื่อหักลบกับต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าประมาณการในช่วงก๊าซพม่าหยุดส่งวันที่ 8-18 เมษายน 2555 ทำให้เอฟทีลดลงได้อีก 2.64 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่ กกพ.ได้มีการนำเงินจากการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของ 3 การไฟฟ้า ระหว่างปี 2551-2553 จำนวน 3,100 ล้านบาท หรือประมาณเกือบ 6 สตางค์ต่อหน่วย มาหักออกจากต้นทุนเอฟที ทำให้เอฟทีงวดใหม่ปรับขึ้นเพียง 30 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น
ประธาน กกพ.กล่าวว่า ค่าเอฟทีงวดต่อไป (งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีกแต่มีลักษณะเป็นขั้นบันได ไม่ก้าวกระโดดแบบงวดนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มชะลอการปรับขึ้น นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ กกพ.จะมีการเกลี่ยค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับภาระ 19.05 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณ 10,200 ล้านบาท ไปคืนในเอฟที 4 งวดข้างหน้า หรือตั้งแต่กันยายน 2555 ถึงธันวาคม 2556 ซึ่งเท่ากับประชาชนจะมีค่าเอฟทีส่วนเพิ่มอีกเฉลี่ย 5 สตางค์ต่องวด
ประธาน กกพ.กล่าวด้วยว่า ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าในงวดที่ผ่านมาสูงเกินแผน ซึ่งเดิมประมาณการว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.69 แต่ตัวเลขที่แท้จริงกลับเพิ่มสูงถึงร้อยละ 11.32 หรือ 51,955 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นผลมาจากอากาศร้อน การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14
ขณะที่การฟื้นตัวของโรงงานอุตสาหกรรมก็มีผลต่อการใช้ไฟ แต่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ซึ่งหากประชาชนร่วมมือกันประหยัดไฟฟ้า เช่น ปิดไฟ 1 ดวงเมื่อไม่ใช้ หรือปิดแอร์ในห้องที่ไม่จำเป็น รวมทั้งบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า จะประหยัดพลังงานร้อยละ 10-15 และเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน จะประหยัดได้ร้อยละ 10-90 เพราะหากยิ่งใช้ไฟฟ้าน้อยลง การใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลง ต้นทุนค่าเอฟทีจะไม่พุ่งสูงขึ้นด้วย