ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจโลกมีข่าวไม่ดีกระทบตลาดทั่วโลกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ทำให้นักลงทุนทั่วโลกผ่อนคลายความกังวลงไปบ้าง แต่หลายคนก็ยังถามต่อว่า แล้วสิ่งที่ต้องตามต่อจากนี้จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง มีประเด็นอะไรอีกหรือไม่ที่จะกระทบตลาด ในส่วนของประเทศไทยนั้นตลาดหุ้นไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน วันนี้ คอลัมน์พบผู้จัดการกองทุน ขออาสาไปหาคำตอบจากนักวิเคราะห์ว่าต่อจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นอย่างไร...
ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้นกว่าปลายปีที่ผ่านมา มีแต่คนกลัวยุโรปจะแย่จะแตก ปรากฏว่า ECB ออกมาตรการ Long-term refinancing operations (LTRO) ด้วยกัน 2 รอบประมาณ 1 ล้านล้าน ขณะเดียวกัน FED เองก็ประกาศว่าจะออกมาคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปถึงปลายปี 2014 ซึ่งก็นานกว่าที่ตลาดคาด โดยสองเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนเปลี่ยน
ทั้งนี้ แม้ว่ากรีซจะผ่อนคลายเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะไปบ้างแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งในระยะสั้นยังมีเรื่องประเทศจีนที่ประกาศอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกนั้นเติบโตช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาด ทำให้คนกลับมากังวลเรื่องจีนว่าจะมีการ Hard landing หรือไม่ ขณะเดียวกัน ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงจากความขัดเเย้งในภูมิภาคที่ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะอิหร่าน ซึ่งก็เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงไปได้
ทางด้านพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ เองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีมากเท่าที่ควร มีการชะลอตัวลงบ้าง มีความกังวลเรื่อง Double Dip เรื่องการจะใช้ QE3 หรือการมองไปถึงปลายปีหน้า กลางปีหน้า ซึ่งมาตรการการคลังจะหมดลง การเลือกตั้งปลายปีจะออกมาเช่นไร มีการคงนโยบายการเงินการคลัง หรือมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมหรือไม่ ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตาม
“เรามองว่าประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้น อย่างจีนเรามองว่าจะมีการกระตุ้นนโยบายการผ่อนคลายในเชิงนโยบายทางการเงินกลับมา หรือแม้กระทั่งนโยบายเงินหยวนที่เข้าสู่ดุลภาพเเล้ว ในส่วนของมุมมองสหรัฐฯ เรามองตลอดว่าเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีแต่ก็ไม่ถึงกับแย่ที่จะเกิด Double Dip ซึ่งสหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว หลังจากที่เกิดวิกฤตซับไพรม์”
ยุโรปยังไม่คลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกรีซจะจบไป เจ้าหนี้ของกรีซที่เป็นเอกชนก็สวอปไปถือพันธบัตรอายุ 30 ปี คนที่ถือหนี้กรีซอยู่ตอนนี้คือรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นอียู หรือกองทุน IMF ซึ่งหากกรีซมีวิกฤตอีกคนที่จะกระทบมากที่สุดคือ EU และ IMF ทั้งนี้ สิ่งที่ตลาดกำลังเป็นกังวลอยู่ตอนนี้คือสเปน กับอิตาลี เนื่องจากไซส์ของหนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งมีความกังวลว่า EU กับ IMF จะไม่สามารถอุ้มและจัดการได้ นอกจาก 2 ประเทศนี้เเล้วเรายังกังวลกับประเทศโปรตุเกส คนเข้าใจว่ารับความช่วยเหลือเรื่องเงินรอบแรกไปเเล้ว และยังมีเงินก้อนนั้นอยู่ ซึ่งถ้าไปดูตัวเลขของหนี้จะพบว่าหนี้สาธารณะของโปรตุเกสนั้นมี 100% เมื่อเทียบกับ GDP แต่โปรตุเกสมีความโชคดีที่หนี้ยังไม่ครบกำหนดในเร็วๆ นี้ จะมีหนี้ก้อนใหญ่ประมาณเดือนกันยายน ปี 2556 ซึ่งความกังวลนั้นก็คือโปรตุเกสจะมีเงินมาชำระหนี้หรือไม่ เนื่องจากโปรตุเกสเองมีกำหนดที่จะชำระหนี้ในปีนี้และต้นปีหน้าแม้ว่าจำนวนเงินจะไม่มาก ถ้าหากโปรตุเกสไม่สามารถเข้ามากู้เงินในตลาดได้ตรงนี้จะเป็นปัญหา และเป็นประเด็นสร้างความกังวลให้ตลาดในช่วงปีหน้า
ไทยระวังเงินเฟ้อ
ดร.สมชัย มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา ภาคการผลิตเริ่มกลับมาผลิตและทยอยส่งของให้ลูกค้า โดยรวมแล้วดีขึ้่น แต่ภาคครัวเรือนเรามองว่ามีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ความต้องการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เรื่องของการก่อสร้างก็มาช้ากว่าที่คาด เรื่องการใช้จ่ายภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ยังเป็นความกังวลเรื่องของการฟื้นตัว
สเต็ปถัดไปที่ยังมีความกังวลคือ ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อซึ่งต้องยอมรับว่านโยบายของรัฐหลายอย่างเป็นตัวที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เช่นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งผลกระทบรอบแรกเรายังไม่กังวลเท่าไร แต่ผลกระทบรอบสองคือราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แรงงานต้องการค่าจ้างเพิ่มขึ้น อาจจะเห็นประมาณปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า รวมถึงการฟื้นตัวจากน้ำท่วมส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อในช่วงปลายปี
“ระยะสั้นเงินเฟ้อจะลดลงจากฐานปีก่อน เเต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของปีเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาจากเรื่องของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพลังงาน โดยกรอบเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.5% ส่วนการเติบโตของ GDP เรามองไว้ที่ 5.95% ทั้งนี้ ด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นย่อมกระทบดอกเบี้ยนโยบายอาจคงไว้ระดับต่ำก่อน ซึ่งจะเห็นการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี เราประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5%”
ตั้งเป้าหุ้นไทย 1,286 จุด
ความผันผวนในตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่ โดยเฉพาะการโยกเงินของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกยังมีสูง อาจจะมีการโยกเงินลงทุนไปมา แต่โดยพื้นฐานเรามองว่าบริษัทจดทะเบียนยังมีการเติบโตที่ดีขึ้น เรามองทาร์เกตหุ้นปีนี้ไว้ที่ 1,286-1,250 จุด โดยปัจจัยบวกมาจากบริษัทจดทะเบียน การฟื้นตัวของน้ำท่วม และเรื่องเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนปัจจัยลบที่มองคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเมืองไทย