xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง วันที่ 2 พฤษภาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 2 พฤษภาคม 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เตือนว่า โลกเสี่ยงเผชิญวิกฤตแรงงาน ภายหลังมาตรการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปตลาดแรงงานในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการจ้างงาน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2551 ตำแหน่งงานได้หายไปจากตลาดแรงงานแล้วประมาณ 50 ล้านตำแหน่ง และในช่วงปี 2554 มีคนตกงานมากถึง 196 ล้านคนทั่วโลก อีกทั้งได้คาดการณ์ว่าอัตราว่างงานในปีนี้จะอยู่ที่ 6.1% หรือ 202 ล้านคน

• อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.6% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายปีจาก 2.7% ในเดือนมีนาคม แต่ยังสูงกว่าเป้าของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งตั้งไว้ต่ำกว่า 2% อันเป็นผลจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี โดยจะมีการประชุมกันวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการตรึงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย

• ภาคเอกชนและผู้บริโภคในกลุ่มประเทศรอยขอบ (Periphery) ยูโรโซนชะลอการถอนเงินฝากออกจากธนาคารในเดือนมีนาคม ซึ่งช่วยผ่อนคลายความกดดันต่อระบบธนาคารที่กำลังย่ำแย่ของกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยธนาคารพาณิชย์ในกรีซมีเงินฝากจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม หลังจากลดลง 2.7% ในเดือนก่อน

ส่วนธนาคารในสเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี มีเงินฝากเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินฝากเอกชนในโปรตุเกสลดลง 1.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี

• จีดีพีของสเปนหดตัวลง 0.3% ในไตรมาสแรกปีนี้เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และหดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อน โดยนักวิเคราะห์มองว่าสเปนยังคงเผชิญภาวะถดถอยอีกครั้ง อันจะไม่ส่งผลดีต่อฐานะการคลังของประเทศ

และเมื่อพิจารณาจากอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกับเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง พบว่ารัฐบาลสเปนอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับความช่วยเหลือบางรูปแบบ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม

• สเปนมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5.9 พันล้านยูโรในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับขาดดุล 5.3 พันล้านยูโรในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าพลังงานส่งผลให้สเปนขาดดุลการค้า 3 พันล้านยูโรในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 2.7 พันล้านยูโรในปีก่อน

• จากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซ เช่น การปลดข้าราชการ การปรับลดเงินเดือนและบำนาญเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศนั้น ได้ส่งผลให้ชาวกรีซจำนวนมากตกงานและประสบปัญหาหนี้จนเกิดการฆ่าตัวตายแทบจะรายวัน ทั้งที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น กรีซมีอัตราฆ่าตัวตายต่ำสุดประเทศหนึ่ง ที่เพียง 2.8 คนต่อประชากร 1 แสนคน

แต่ในช่วงต้นปี 2553 หรือ 1 ปีหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้น 40% และคาดว่าปี 2554 น่าจะพุ่งสูงเกือบเท่าตัว คืออยู่ที่ประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 แสนคน

• ดัชนี PMI ในเดือนเมษายนของอังกฤษลดลงสู่ 50.5 จาก 51.9 จุดในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกลดลง

• รายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น 0.4% ในเดือนมีนาคม ถือว่ามากที่สุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่การใช้จ่ายส่วนบุคคลขยายตัว 0.3%

ทั้งนี้ อัตราการบริโภคที่ขยายตัวช้ากว่ารายได้แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันออมเงินมากขึ้น หรือกล่าวได้ว่า ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการออมขยายตัวแตะ 3.8%

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนเมษายนขยายตัวขึ้นสู่ 53.3 จุด เพิ่มขึ้น 0.2 จุดจากเดือนมีนาคม และมากกว่าเดือนเมษายนปีที่แล้วที่เป็น 52.9 จุด

(ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว)

เศรษฐกิจเอเชีย

• อากัส มาร์โตวาร์โดโจ รมว.คลังอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนของจีนและพันธบัตรสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้ในปีหน้า หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรสกุลเงินเยน หรือซามูไรบอนด์ ไปแล้ว

• GDP ไต้หวันขยายตัว 0.36% ในไตรมาสแรกปีนี้เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.91% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าเติบโต 0.26%

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติไต้หวันได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงสู่ระดับ 3.38% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.85% ไปแล้ว

• ธปท.เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาส 1/55 แสดงถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่หลายๆ อุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดอุทกภัยแล้ว

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาเต็มศักยภาพได้ในปลายไตรมาส 2 ต้นไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ ธปท.เคยคาดไว้เดิมว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติในไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่การบริโภค การลงทุน และการส่งออก ได้แสดงทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นเช่นเดียวกัน

Equity Market

• SET Index ณ วันจันทร์ปิดที่ระดับ 1,228.49 จุด เพิ่มขึ้น 16.71 จุด หรือ 1.38% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 28,284 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,180 ล้านบาท และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมามากกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยมีแรงซื้อในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มแบงก์ และพลังงานนำตลาด

• การที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อตลาดหุ้น รวมถึงแรงซื้อเก็งกำไรในผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในงวดไตรมาส 1/55

Fixed Income Market

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.02% ยกเว้นช่วงอายุ 1 ถึง 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 0.02% ถึง 0.05% โดยช่วงอายุคงเหลือ 10 ปีเพิ่มขึ้นมากที่สุด สำหรับวันพุธนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น LB15DA อายุ 5.32 ปี วงเงิน 9,000 ล้านบาท

• ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiMBA) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดตราสารหนี้เติบโตต่อเนื่องและคาดว่าทั้งปีภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้ใหม่ประมาณ 3.5-4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 2.12 แสนล้านบาท

สำหรับไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้น เอกชนได้ออกหุ้นกู้ 1.44 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 53% หรือ 7.6 หมื่นล้านบาทเป็นการออกหุ้นกู้โดยธนาคารพาณิชย์ที่มาใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทำธุรกิจมากขึ้น หลังถูกเก็บค่าธรรมเนียมประกันเงินฝากเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่า 2.98 แสนล้านบาท โดยซื้อในตราสารหนี้ระยะยาว 4.9 หมื่นล้านบาท

• ธนาคารกลางออสเตรเลียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาอยู่ที่ 3.75% หลังจากอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1.6% ซึ่งลดลงจากเดือนมีนาคมปีที่แล้วที่เป็น 3.1%

Guru Corner

• Jim O'Neill ประธานกรรมการ Goldman Sachs Asset Management นักเศรษฐศาสตร์ที่ตั้งชื่อย่อให้กลุ่ม BRICs (Brazil, Russia, India, China) ให้สัมภาษณ์ต่อ Business Insider ว่า BRICs จะเป็นโครงสร้างการลงทุนในเจเนอเรชันของเรานี้

• Mark Mobius ผู้เป็น Executive Chairman ของ Templeton Emerging Markets Group ยอมรับว่า ทุกที่ทุกตลาดย่อมมีความเสี่ยง แต่หากพูดถึงความเสี่ยงสำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น เขาเชื่อว่าความเสี่ยงมีน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้วมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น