คาดตลาดตราสารฯ ปี 55 บูมสุดขีด “แบงก์พาณิชย์-ผู้ประกอบการ” หนีต้นทุนค่าธรรมเนียมเงินฝากที่พุ่งสูงขึ้น แห่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน เผยเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา 3 แบงก์พาณิชย์ของไทยออกหุ้นกู้ระดมเงินไปแล้ว 7 หมื่นล้าน “บัณฑิต” คาด ปีนี้จะมีการระดมเงินผ่านหุ้นกู้ทะลุ 3 แสนล้าน มั่นใจตลาดการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอ
นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานคณะกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาพรวมตลาดตราสารหนี้ปี 2555 โดยคาดว่า ตลาดหุ้นกู้จะมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี ซึ่งเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้มูลค่าการระดมทุนสูงขึ้น
โดยภาครัฐจะมีการใช้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 5 แสนล้านบาท และอีก 3 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมคาดว่า ภาครัฐน่าจะใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งในการระดมทุน
2.ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวลง สนับสนุนให้เกิดการระดมทุน 3.แนวโน้มเงินทุนต่างชาติน่าจะไหลเข้าลงทุนตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปสามารถคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ กรณีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทางการเงิน 4 ฉบับ จะทำให้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น หากต้องส่งค่าธรรมเนียมเงินฝากเพิ่มขึ้นและส่งผ่านต้นทุนเหล่านี้ไปยังลูกค้า จะทำให้ต้นทุนในการกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และประเมินว่าอาจเป็นผลให้ผู้ประกอบการหันมาพึ่งตลาดตราสารหนี้ในการระดมทุนมากขึ้น
“มองว่าทั้ง 3 ปัจจัยแรก คาดว่า จะหนุนให้ตลาดหุ้นกู้มีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่กรณีของ พ.ร.ก.4 ฉบับ คงต้องติดตาม เพราะขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะออกมาเป็นอย่างไร”
ด้าน นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะหันมาพึ่งตลาดตราสารหนี้ในการระดมทุน เพราะมีต้นทุนต่ำกว่า หากมองในแง่ของธนาคารพาณิชย์ พบว่าได้เริ่มหันมาใช้ตลาดหุ้นกู้เช่นกัน
โดยในเดือนมกราคม 2555 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4.6% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ก็ออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาท ด้วยเช่นกัน
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจะทำให้มีความต้องการกู้ยืมเงินมากขึ้น และเหตุผลสำคัญ คือ ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และเคยเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ อาจเข้าข่ายถูกนับรวมจ่ายค่าธรรมเนียมด้วย ทำให้ต้นทุนในการออกตั๋วบี/อีสูงขึ้น จึงหันมาเริ่มให้ความสนใจในการออกหุ้นกู้แทนตั๋วบี/อี ซึ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น
“เท่าที่ได้มีการสำรวจความต้องการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนปีนี้ มีจำนวน 2.5-3.0 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีจำนวน 2.12 แสนล้านบาท และเชื่อว่า สภาพคล่องในระบบสูงยังเพียงพอรองรับได้”
ล่าสุด บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ “F1+(tha)” แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารกรุงไทย มูลค่าไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน