โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
เศรษฐกิจโลก
• แถลงการณ์รายเดือนของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่ามีความเสี่ยงช่วงขาลงเพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อของยูโรโซนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความวิตกกังวล โดยเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีการขยายตัวที่อ่อนแอจากความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
• อัตราเงินเฟ้อรายปีของยูโรโซนลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันจนแตะระดับ 2.4% ในเดือน พ.ค. จาก 2.6% ในเดือน เม.ย. เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ชะลอความร้อนแรงลง
• ชาวกรีซแห่ถอนเงินสดจำนวนมากออกจากธนาคาร และพากันกักตุนอาหารไว้ในบ้านก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันอาทิตย์ที่ 17 มิ.ย. เนื่องจากมีความกังวลว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้กรีซต้องออกจากยูโรโซน โดยนักการธนาคารกล่าวว่า มีเม็ดเงินไหลออกจากธนาคารขนาดใหญ่ในกรีซประมาณ 800 ล้านยูโร (1 พันล้านดอลลาร์) ต่อวัน ขณะที่ผู้ค้าปลีกกล่าวว่า ประชาชนนำเงินบางส่วนมาซื้อพาสตาและอาหารกระป๋องเพื่อรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหาร
• อัตราการว่างงานของกรีซในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นถึง 22.6% จาก 20.7% ในไตรมาสสี่ปีก่อน
• อิตาลีระดมทุนจากการประมูลขายพันธบัตร 3 ชุดได้ตามเป้าสูงสุด 4.5 พันล้านยูโร แต่อัตราผลตอบแทนทุกช่วงอายุพุ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับครั้งก่อน โดยรุ่น 3 ปีมีอัตราผลตอบแทน 5.30% จากเดิม 3.91% รุ่น 7 ปี 6.10% จากเดิม 5.21% และรุ่น 8 ปี 6.13% จากเดิม 5.33%
• ธนาคารกลางสเปนเปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ของสเปนได้กู้เงิน 3.246 แสนล้านยูโรจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจาก 3.169 แสนล้านยูโรในเดือน เม.ย. สะท้อนว่าธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระดมทุนในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารกันเอง (อินเตอร์แบงก์) เพราะต่างไม่ไว้ใจในสถานะของกันและกันจึงหลีกเลี่ยงการปล่อยกู้ระหว่างกันท่ามกลางวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่เลวร้ายลง
• นักเศรษฐศาสตร์ 35 รายจาก 59 รายในโพลรอยเตอร์คาดว่า รัฐบาลสเปนจะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาพยุงฐานะการเงินของรัฐบาลในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เหมือนกับที่โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และกรีซได้ทำไปแล้ว
ผลสำรวจในครั้งนี้แตกต่างเป็นอย่างมากจากผลสำรวจในเดือน เม.ย. ที่ระบุว่ามีโอกาสเพียง 1 ใน 4 ที่สเปนจะต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ
• ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ยืนยันที่จะปกป้องเพดานของฟรังก์ที่ระดับ 1.20 เทียบยูโร ก่อนการเลือกตั้งของกรีซในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากยูโรโซนเข้าสู่ฟรังก์อีกครั้งในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
• โนเกียวางแผนลดพนักงานทั่วโลกลงอีก 10,000 ตำแหน่ง และจะปิดโรงงานหลายแห่งในช่วงสิ้นปีหน้า รวมทั้งเตือนว่าการขาดทุนในไตรมาส 2 จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งแผนการปรับลดดังกล่าวจะทำให้ยอดลดพนักงานอยู่สูงกว่า 40,000 ตำแหน่ง นับตั้งแต่สตีเฟน อีลอป เข้ารับตำแหน่งซีอีโอในเดือน ก.ย. 2010
• อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ลดลง 0.3% ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ลดการซื้อน้ำมันเบนซิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.2%
• ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 มิ.ย. เพิ่มขึ้น 6,000 รายมาอยู่ที่ 386,000 ราย นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ได้อ่อนแรงลงแล้ว ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 33,000 ราย ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 มิ.ย.สู่ระดับ 3.28 ล้านราย
เศรษฐกิจเอเชีย
• ศูนย์วิจัยพิว แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ รายงานผลสำรวจจากประชาชนใน 21 ประเทศพบว่า ร้อยละ 41 เชื่อว่าจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลกมากกว่าสหรัฐฯ ที่ได้รับการโหวตร้อยละ 40 ซึ่งความคิดดังกล่าวพบในประชาชนในแถบยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะชาวอังกฤษร้อยละ 58 กล่าวว่า จีนเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก และมีเพียงร้อยละ 28 ที่คิดว่าเป็นสหรัฐฯ
• เครดิต สวิสลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงเหลือ 7.7% ในปีนี้ พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างอ่อนแออีกหลายปี แม้มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลจะช่วยลดความเสี่ยงขาลงที่มีต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะขาขึ้นอย่างยั่งยืน
• คิม ชุงซู ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเกาหลีใต้ (BOK) กล่าวว่า นโยบายการเงินไม่ใช่ยาวิเศษในการจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกที่พุ่งขึ้นจากการผ่อนคลายทางการเงินในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เพราะสภาพคล่องที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้ประเทศพัฒนาแล้วเชื่อมโยงเข้ากับประเทศเกิดใหม่มากขึ้น
ผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาทางการเงินในประเทศหนึ่งหรือในภูมิภาคหนึ่งจะไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศนั้นหรือภูมิภาคนั้นเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป
• ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืน (borrowing rate) ไว้ที่ระดับ 4% และดอกเบี้ยปล่อยกู้ข้ามคืน (lending rate) ที่ 6% เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,153.01 จุด ลดลง 5.21 จุด หรือ -0.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 26,736 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,463 ล้านบาท ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากความกังวลในปัญหาหนี้ของยุโรป หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 7% และยังกังวลถึงการประมูลพันธบัตรของอิตาลีอาจจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดี
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวในช่วงระหว่าง -0.02% ถึง 0.00% สำหรับวันศุกร์นี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 14 วัน วงเงิน 60,000 ล้านบาท
Guru Corner
• Nouriel Rubini : ชาวเยอรมันควรเลิกออมเงินอย่างบ้าคลั่งได้แล้ว รัฐบาลเยอรมนีต้องลดอัตราภาษีเงินได้ และเพิ่มค่าจ้างแรงงาน เพราะมันจะทำให้คนเยอรมันมีกำลังซื้อเพิ่ม สามารถจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการ
รัฐบาลเยอรมนีน่าจะแจกเช็คเดินทางให้ชาวเยอรมันสัก 1,000 ยูโรดอลลาร์ต่อครอบครัว โดยให้เอาไปใช้ในการหยุดพักผ่อนในประเทศสมาชิกยูโรที่กำลังประสบปัญหาได้เท่านั้น เอาใช้อย่างอื่นไม่ได้ นั่นจะช่วยประเทศเหล่านั้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาได้บ้าง แต่จะให้ดีแล้วต้องให้โบนัสพิเศษทางภาษีแก่คนเยอรมันที่ซื้อบ้านพักตากอากาศในยุโรปตอนใต้ด้วย”
• Jim Rogers : “เรื่องล้มละลายมันเกิดมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ไม่เห็นมีอะไรใหม่ ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไป ทำไมต้องไปอุ้ม
ทางแก้ปัญหาหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดไม่ใช่การเพิ่มหนี้สุมลงไปอีก การทำแบบนี้มันบ้าแล้ว บ้าที่สุดเท่าที่เคยพบเคยเห็น ยิ่งจะทำให้เวลาที่มันต้องระเบิดออกมาจะยิ่งเสียหายรุนแรงขึ้นอีกมหาศาล
เราต้องกังวลให้หนักๆ กันแล้ว เพราะวิถีที่ถูกต้องก็คือเมื่อเราล้มเหลว ก็ต้องยอมรับความจริง คนที่เก่งและมีกำลังกว่าก็จะเข้ามายึดมาซื้อทรัพย์สินเราไป
แต่ที่ทำกันในวันนี้คือ ไปเอาทรัพย์สินของคนที่มีความสามารถไปให้คนที่ไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่เหลวไหล และเป็นการกระทำที่โง่ที่สุด”