โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• IMF จะลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเนื่องจากการลงทุน การจ้างงาน และการผลิตที่อ่อนตัวลงทั้งในยุโรป สหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และจีน โดยคาดว่าจะประกาศแนวโน้มใหม่ในช่วง 10 วันข้างหน้าให้ลดลงจากที่ประเมินเมื่อเดือน เม.ย.ไว้ที่ 3.5%
นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่าตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญๆ อย่างบราซิล จีน และอินเดีย กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวลง และ 3 ประเทศนี้รวมกับรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
• ธนาคารกลางเดนมาร์กลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ 0.20% และลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเงินฝาก (CD) ลง 0.25% สู่ -0.20% ซึ่งหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ที่ฝากเงินไว้กับธนาคารกลางเดนมาร์กต้องเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้ธนาคารกลางเดนมาร์ก
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดการเงินกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในขณะที่วิกฤตหนี้ยูโรโซนยังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูโรโซน โดยในช่วงก่อนหน้านี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของเดนมาร์กได้เคยติดลบมาแล้วจากการที่นักลงทุนกังวลต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซนได้แห่กันเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ในรูปสกุลเงินยูโร
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ของเยอรมนีพุ่งขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1-0.4% ทำให้เกิดความหวังได้บ้างว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งยูโรโซนรอดพ้นจากภาวะหดตัวได้ในไตรมาสสอง
• ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 80,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 90,000-100,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 8.2% สอดคล้องกับคาดการณ์ส่วนใหญ่
นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังอ่อนแรง ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะแม้ว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกันแล้ว แต่อัตราขยายตัวยังคงต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่งเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
• คริสติน ลาการ์ด ผอ. IMF กล่าวถึงเรื่องใหญ่ที่สร้างความวิตกสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น 2 เรื่อง คือ การแข็งค่าขึ้นอีกของค่าเงินเยน และความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตหนี้ของยุโรปต่ออุปสงค์สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น โดยระบุว่าเยนมีมูลค่าสูงเกินจริงในระดับปานกลาง และมีความเสี่ยงที่เยนอาจแข็งค่าขึ้นอีกถ้าวิกฤตหนี้ของยุโรปทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง
• จุน อาซูมิ รมว.คลังญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจขาดเม็ดเงินที่จะสนับสนุนงบประมาณของปีงบการเงินปัจจุบันภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ หากกฎหมายชดเชยการขาดดุลงบประมาณไม่ผ่านการอนุมัติของสภา เนื่องจากรัฐบาลจะมีเงินเพียง 46.1 ล้านล้านเยน ขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงถึง 43.9 ล้านล้านเยนในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.
• ผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงอีกในไตรมาส 2 โดยจะขยายตัว 7.6% เป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008/2009 ซึ่งนักลงทุนควรติดตามการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. เวลา 09.00 น.ตามเวลาไทย
• อุตสาหกรรมเบาของจีนขยายตัวช้าลงใน 5 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์จากทั้งในและนอกประเทศซบเซาจนส่งผลต่อการผลิต โดยการเพิ่มขึ้น 18.4% จากปีที่แล้ว เป็นการลดลง 1.6% และ 11.3% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ และช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
• นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนจะกำหนดให้การควบคุมราคาและการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นนโยบายระยะยาว และต้องเดินหน้าควบคุมตลาดต่อไปเพื่อให้ราคาอสังหาริมทรัพย์กลับสู่ระดับที่สมเหตุสมผลอีกครั้ง
ถ้อยแถลงนี้ตอกย้ำว่า รัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
• HSBC กล่าวว่า หลายประเทศในเอเชียยังสามารถจะลดอัตราดอกเบี้ยได้หากเศรษฐกิจโลกแย่ลง แต่พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวในภูมิภาคเอเชียยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตัวเลขทางอุตสาหกรรม เพราะแม้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังดีอยู่ แต่การส่งออกไปยุโรปหดตัว ประกอบกับตัวเลข PMI ของหลายประเทศในเอเชียลดต่ำลง
ทั้งนี้ ได้แนะนำว่าประเทศในเอเชียไม่ควรห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมากนัก โดยควรจะหันมาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรุดตัวลงมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกระตุ้นการใช้จ่ายจะครบกำหนด (ส่วนหนึ่งของ Fiscal Cliff ซึ่งจะกระทบประมาณ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็น 4% ของ GDP และจะกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย
• ดร.อัมมาร สยามวาลา ระบุว่า รัฐบาลกรีกเมื่อ 20-30 ปีก่อนมีนโยบายประชานิยมแต่ทำบัญชีไม่โปร่งใส หลายอย่างซุกเอาไว้จนเป็นวิกฤตขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนที่รัฐบาลไทยต้องระวัง เพราะจากการติดตามนโยบายและพฤติกรรมการใช้จ่ายของรัฐบาลไทยนั้นเชื่อว่าวันหนึ่งจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบวิกฤตในยุโรปครั้งนี้จะเกิดแก่ภาคธุรกิจเอกชนไทยก่อน โดยจะขายของหรือส่งออกได้น้อยลง เพราะลูกค้าหลักไม่มีกำลังซื้อ และจะกระทบการจ้างงานแล้วเศรษฐกิจจะตกต่ำลง แต่ภาคการเงินน่าจะพอถูไถไปได้เพราะมีหนี้สินน้อย
ทั้งนี้ รัฐบาลมีทางแก้ไขหลายทาง เช่น อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่ออุ้มชูเศรษฐกิจอย่างมีจังหวะ มียุทธศาสตร์ที่ดี เหมือนที่รัฐบาลจีนเคยทำครั้งโต้กับวิกฤตเศรษฐกิจในวอลล์สตรีท ก็จะทำให้ไทยถูไถไปได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าทำเพลินเกินไปปัญหาก็จะเกิดขึ้น คนจะตั้งคำถามกับการใช้เงินของรัฐ และปัญหาที่หมักหมมเอาไว้จากการซุกหนี้ของรัฐบาลก็จะโผล่ขึ้นมา
Equity Market
• SET Index วันศุกร์ปิดที่ 1,200.08 จุด ลดลง 1.72 จุด หรือ -0.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 27,340 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,034 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวกรอบแคบในแดนลบ เนื่องจากขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น รวมถึงนักลงทุนยังรอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ว่าจะเป็นอย่างไร
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ปรับลดลงในช่วง -0.01 ถึง -0.05% ยกเว้นช่วงระยะสั้นไม่เกิน 4 ปีที่ทรงตัว สำหรับวันจันทร์นี้มีการประมูลตั๋วเงินคลัง อายุ 6 เดือน วงเงิน 9,500 ล้านบาท
Oil Corner
• หลายสำนักได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันลงจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
บาร์เคลย์ส แคปิตอล ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ในปีนี้ลงสู่ระดับเฉลี่ยที่ 113 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอยช์แบงก์ได้ปรับลงสู่ระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI ลงสู่ระดับ 94 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนในปีหน้า บาร์เคลย์ส แคปิตอลได้คงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่ 125 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอยช์แบงก์ได้ปรับลดลงสู่ระดับ 104 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI ลงสู่ระดับ 96 ดอลลาร์/บาร์เรล
โซซิเอเต เจเนอราลได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลงสู่ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงสู่ระดับ 89.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
Guru Corner
• Marc Faber
“ถ้าเราเอาแบงก์ที่ป่วยหนัก 1 แห่ง หรือเป็นร้อยแห่งเข้ามารวมกัน มันก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่านั่นคือแบงก์ที่ป่วยหนัก การที่ตลาดยุโรปพุ่งขึ้นเป็นเพราะมันโดนเทขายไปมาก โดยเฉพาะในโปรตุเกส สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ดังนั้น เมื่อมีข่าวอะไรที่ไม่ได้เป็นข่าวร้ายมากๆ ตลาดก็ขึ้นแต่มันก็เหมือนผัดหน้าทาปากเท่านั้น เพราะปัญหาระยะยาวที่แท้จริงคือการใช้จ่ายเกินตัวยังไม่ได้รับการแก้ไข”
“ผมไม่ได้ Long เงินยูโร เพราะผมกระจายการลงทุนไปในหลายสกุลเงินเสมอ ผมจึงมีทั้งดอลลาร์สหรัฐ ยูโรดอลลาร์ สิงคโปร์ดอลลาร์ และมีแคนาเดียน กับออสเตรเลียนดอลลาร์อยู่บ้าง นอกจากนี้ ผมยังมีสกุลเงินเอเชียจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียนริงกิต หรือเงินบาทไทย เป็นต้น”
“ถ้าผมเป็นผู้บริหารประเทศเยอรมนีผมจะออกจากยูโรโซนไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ต้องเผชิญต่อการสูญเสียไม่น้อย แต่ความสูญเสียมันจะต้องเกิดอยู่ดีไม่ว่าจะที่นี่หรือที่ไหน โดยการขาดทุนขั้นแรกจะเกิดกับธนาคารต่างๆ อย่างกรณีของกรีซนั้นหากเตะกรีซออกไปจากยูโรโซนตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ไม่ดันทุรังลากยาวมาจนวันนี้ ความสูญเสียจะถูกลงกว่านี้มาก”
• Peter Schiff
“การดันทุรังโอบอุ้มระบบที่เสียหายไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงจะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง และการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ไปไม่ไหวแล้วจะเป็นการจำกัดทรัพยากรที่ควรไหลไปสู่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต
• Jim Rogers
“มันง่ายที่จะบอกให้ผู้คนซื้อเมื่อราคาต่ำและให้ขายเมื่อราคาสูง แต่ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาเท่าไหร่ถึงจะต่ำหรือสูง”