เอเอฟพี - สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) เตือนว่า ผลกำไรในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในปีนี้ เนื่องจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงและวิกฤตหนี้สินยูโรโซน โดยสายการบินในยุโรปคาดว่าจะสูญเสียรายได้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โทนี ไทเลอร์ ผู้อำนวยการไอเอทีเอ ยังวิจารณ์นโยบายเก็บภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้น โดยชี้ว่าจะเป็น “ตัวแบ่งแยกที่ก่ออุปสรรคต่อความก้าวหน้าที่แท้จริง”
ไทเลอร์ แถลงต่อที่ประชุมไอเอทีเอประจำปี ณ กรุงปักกิ่งว่า “2012 เป็นอีกปีที่ท้าทาย เราคาดว่าจะทำรายได้ราว 631,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะมีผลกำไรจริงๆ เพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น”
ตัวเลขผลกำไรดังกล่าวถือว่าลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อเทียบกับสถิติผลกำไร 7,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 ข้อมูลจากไอเอทีเอเผย
ไทเลอร์ชี้ว่า ราคาน้ำมันคือปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหา “ทุนหายกำไรหดทั่วโลก” และคาดว่าปีนี้ราคาจะพุ่งสูงถึง 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งสถานการณ์การเมืองที่ยาดจะเคาเดาก็เป็นตัวเร่งให้ราคาขยับขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี “ความเสี่ยงที่รุนแรงและปัจจุบันทันด่วนมากที่สุด คือ วิกฤตหนี้สินในยูโรโซน หากมันพัฒนากลายเป็นวิกฤตธนาคารเมื่อใด เราอาจต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วทั้งทวีป ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ และกระทบถึงผลกำไรของอุตสาหกรรมการบินด้วย”
ถ้อยแถลงของที่ประชุมใหญ่ไอเอทีเอประจำปี ยังระบุว่า ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของสายการบินยุโรปในปี 2012 และคาดว่าผลกำไรจะหดหายถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับคาดการณ์ครั้งที่แล้วที่ระบุไว้ราวๆ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ไอเอทีเอเผยแนวโน้มในเชิงลบ แม้จะมีตัวเลขระบุชัดว่าจำนวนผู้โดยสารสายการบินยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 5.6% ในช่วง 1 ปีจนถึงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะเพิ่มถึง 3 พันล้านคนในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 2.8 พันล้านคนในปี 2011
อย่างไรก็ดี ไทเลอร์ระบุว่า แนวโน้มผลกำไรของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกนั้น “แตกต่าง” ไปตามภูมิภาค โดยแถบอเมริกาเหนือและละตินอเมริกาคาดว่าจะเติบโตขึ้นกว่าปี 2011 เล็กน้อย สวนทางกับการบินในยุโรป, เอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลางที่จะกำไรลดลง
สายการบินในอเมริกาเหนือน่าจะทำกำไรได้ถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่สายการบินแถบเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลางคาดว่าผลกำไรจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง
ไทเลอร์ยังวิจารณ์นโยบายภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรปพยายามจะเรียกเก็บจากสายการบิน โดยไม่ยี่หระเสียงคัดค้านของสหรัฐฯ, จีน, รัสเซีย, อินเดีย และสายการบินในยุโรปเอง
ตามนโยบายที่ว่านี้ สายการบินทั่วโลกที่เดินทางเข้าออกสนามบินในสหภาพยุโรปจะต้องถูกวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อย และจะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมหากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกินเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
มาตรการเช่นนี้ “เป็นตัวแบ่งแยกที่ก่ออุปสรรคต่อความก้าวหน้าที่แท้จริง จีนซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่คัดค้านแผนค้าคาร์บอน (อีทีเอส) ของยุโรป โดยสายการบินจีนถูกสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามนโยบายนี้แล้ว” ไทเลอร์ เผย
สหภาพยุโรประบุว่า การเก็บภาษีคาร์บอนจะช่วยให้ยุโรปบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2020 และจะไม่พับแผนนี้อย่างแน่นอน แม้จะถูกวิจารณ์ว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม