xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยการันตีถึงเม.ย. ไม่ปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ปิยสวัสดิ์”ยันไม่ขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันจนถึงสิ้นเม.ย.แม้ราคาตลาดโลกพุ่ง ชี้ทำประกันล่วงหน้าไว้แล้ว แต่หลังจากนั้นต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานการณ์ในอิหร่าน คาดปี 55 ยังเห็นกำไร ผ่าน 2 เดือนยังเป็นไปตามเป้า เผยปี 56 ต้องจ่ายคาร์บอนเครดิต 200-300 ล้านบาท ในเส้นทางยุโรป เดินหน้าคัดค้านอียู
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่า น้ำมันคิดเป็นต้นทุนของธุรกิจการบินประมาณ 40% ของต้นทุนทั้งหมด โดยขณะนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. เหมือนคู่แข่งอื่น เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ เนื่องจากบริษัทได้มีการทำประกับความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) ไว้ แต่หลังจากนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์ในประเทศอิหร่านอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก
ทั้งนี้ อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค.2555 อยู่ที่ระดับ 77% โดยคาดว่า Cabin Factor ทั้งเดือนมี.ค. จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ Cabin Factor เฉลี่ย 72.9% แต่จะต่ำกว่า Cabin Factor เดือนก.พ. 2555 ซึ่งอยู่ที่ 79% โดยตั้งเป้าผลประกอบการปี 2555 ว่าจะมีกำไร ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ยังเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงสำคัญ คือ ราคาน้ำมันน้ำมันอากาศยาน ซึ่งในปีนี้ราคาได้ปรับขึ้นมาทำสถิติใหม่เฉลี่ยที่ 130 เหรียญต่อบาร์เรล จากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 125.6 เหรียญต่อบาร์เรล ในขณะที่ธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสารได้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเปิดงานเรื่องวิสัยทัศน์ ด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจการบินของประเทศไทยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย เผชิญกับปัญหาภัยพิบัติต่างๆ และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังอุตสาหกรรมการบิน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษให้ได้ 50% ในปี 2050 เพื่อให้เป็นสายการบินแนวหน้า ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ ลดภาวะเรือนกระจกของโลก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีหน้า บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายคาร์บอนเครดิต ประมาณ 200-300 ล้านบาท จากเที่ยวบินไปเส้นทางยุโรป ซึ่งบริษัทจะลดเที่ยวบินไปยุโรปและจะไม่เพิ่มที่นั่งเส้นทางไปยุโรป โดยทราบว่าทางการของไทยได้ยื่นหนังสือถึงสหภาพยุโรป (อียู) คัดค้านการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตไปแล้ว และเห็นว่ามีหลายประเทศก็คัดค้านเช่นกัน ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินเดีย ซึ่งมองว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเห็นว่าวิธีการเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตไม่ถูกต้อง และการคิดตั้งแต่ต้นทางคือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตแดนนอกเหนืออียู แม้ว่าจะเห็นด้วยในหลักการที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่อียูควรหารือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเช่น สหประชาชาติ (UN) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยลดก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น