เอเอฟพี - สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเลื่อนแผนเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบินที่ใช้สนามบินในยุโรปออกไปก่อน พร้อมเตือนว่านโยบายเช่นนี้อาจกระตุ้นให้เกิดสงครามการค้า
“รัฐอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกยุโรป มองว่า เป็นการโจมตีอธิปไตยของพวกเขาโดยตรง” โทนี ไทเลอร์ ผู้อำนวยการไอเอทีเอ กล่าวบนเวทีสัมมนาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เมืองมอนทรีออล
“เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย เมื่อรัฐยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบินที่มิใช่ของยุโรป ซึ่งก็บินผ่านน่านฟ้าที่ไม่ใช่อธิปไตยของยุโรปด้วย” ไทเลอร์ อธิบาย พร้อมเตือนว่าการเก็บภาษีเช่นนี้จะทำให้เกิดสงครามการค้าได้
“ไม่มีใครต้องการให้เกิดสงครามการค้า ผมเข้าใจว่า แต่ละรัฐคงเตรียมรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย” ผู้อำนวยการ ไอเอทีเอ ซึ่งเป็นผู้แทน 240 สายการบินทั่วโลก ระบุ
ภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรปเรียกเก็บเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ทว่า จะเริ่มเก็บภาษีจริงตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป หลังจากมีการจดบันทึกปริมาณคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยในปีนี้แล้ว
อียู ให้เหตุผลว่า การเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบินจะช่วยให้สมาชิกทั้ง 27 ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 20 ภายในปี 2020 และจะไม่ยกเลิกนโยบายนี้อย่างแน่นอน
อียู ระบุด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่สายการบินต่างๆสามารถรับได้ โดยค่าโดยสารสำหรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับเที่ยวบินระยะไกลอาจต้องปรับขึ้นประมาณ 4.0-24 ยูโร
จีน, อินเดีย, รัสเซีย, สหรัฐฯ และอีกกว่า 20 ประเทศ ออกมาต่อต้านนโยบายเก็บภาษีคาร์บอนของอียู โดยชี้ว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
ไทเลอร์ เสนอว่า อียู ควรยอมรับ “แนวทางสากล” ที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เกี่ยวกับการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งแนวทางดังกล่าว “ไม่อาจบรรลุได้ที่กรุงบรัสเซลส์”
ข้อเสนอจากตลาดการบินว่าด้วยกลไกการลดคาร์บอนจะถูกนำเสนอผ่านที่ประชุมใหญ่ ไอซีเอโอ ครั้งหน้า ซึ่ง ไทเลอร์ ชี้ว่า สิ่งที่อียูควรทำในวันนี้ คือ “ชะลอแผนเก็บภาษีออกไป” จนกว่าจะถึงวันเวลาดังกล่าว