เอเอฟพี - ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ แอร์บัส และสายการบินของยุโรป ยื่นจดหมายถึงผู้นำชาติอียูเพื่อคัดค้านนโยบายเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบิน แหล่งข่าวใกล้ชิดเผย วานนี้(11)
แอร์บัส และ 6 สายการบิน ซึ่งได้แก่ บริติช แอร์เวย์ส, เวอร์จิน แอตแลนติก, ลุฟท์ฮันซา, แอร์ ฟรานซ์, แอร์ เบอร์ลิน และไอบีเรีย ยื่นจดหมายถึงผู้นำอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปน เพื่อเตือนถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะติดตามมาหลังมีการเก็บภาษี
ภาคธุรกิจการบินระบุว่า ภาษีดังกล่าวจะทำให้พวกตนสูญเสียรายได้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากผู้โดยสารหันไปใช้บริการสายการบินอื่น และอาจทำให้พนักงานหลายพันคนต้องตกงานในที่สุด
กลุ่มบริษัทการบินและป้องกัน ซาฟราน (Safran) ของฝรั่งเศส และ เอ็มทียู ของเยอรมนี ก็ร่วมลงนามในจดหมายดังกล่าว ซึ่งถูกส่งถึงนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ, นายกรัฐมนตรี ฟรองซัวส์ ฟียง แห่งฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย แห่งสเปน ซึ่งเป็น 4 ประเทศที่มีส่วนร่วมก่อตั้งบริษัท แอร์บัส
“เราตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายเก็ยภาษี ซึ่งเป็นการกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว” แหล่งข่าวเผย พร้อมชี้ว่า พวกเขาต้องการหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ภายในองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)
ข้อเรียกร้องของ แอร์บัส และสายการบินยุโรป มีขึ้น หลังจากที่ อีเอดีเอส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์บัส แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(8)ที่ผ่านมาว่า จีนจะยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินของแอร์บัสเพื่อประท้วงนโยบายภาษีคาร์บอน
ลูอิส กัลลัวส์ ผู้บริหารอีเอดีเอส ระบุว่า แอร์บัส กำลังตกเป็นเหยื่อของการแก้แค้น
จากรายงานบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ เลส์ เอคโคส์ การยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสของจีนจะทำให้แอร์บัสต้องสูญเสียรายได้ถึง 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทอม แอนเดอร์ส ประธานแอร์บัส เขียนในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ฟียง ว่า การเก็บภาษีคาร์บอนอาจทำให้แรงงานของ แอร์บัส ต้องตกงานนับพันตำแหน่ง รวมไปถึงพนักงานอีกนับพันที่ทำงานกับบริษัทซึ่งจัดส่งชิ้นส่วนให้แอร์บัส
วันอังคารที่ผ่านมา(6) โทนี ไทเลอร์ ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) ออกมาเตือนเช่นกันว่า นโยบายภาษีคาร์บอนอาจกระตุ้นให้เกิดสงครามการค้า
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงสภาพอากาศของเดนมาร์ก มาร์ติน ลีเดอการ์ด ออกมายืนยันวันศุกร์(9)ว่า อียูจะคงแผนเก็บภาษีคาร์บอนจากสายการบินที่ใช้น่านฟ้ายุโรปต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขในระดับนานาชาติ
ภาษีคาร์บอนที่อียูเรียกเก็บเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ทว่าจะเริ่มส่งใบแจ้งหนี้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป หลังจากมีการจดบันทึกปริมาณคาร์บอนที่ปลดปล่อยในปีนี้แล้ว
จีน, อินเดีย, รัสเซีย, สหรัฐฯ และอีกกว่า 20 ประเทศ ออกมาต่อต้านนโยบายเก็บภาษีคาร์บอนของอียู โดยชี้ว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ อียู ก็ให้เหตุผลว่า การเก็บภาษีคาร์บอนจะช่วยให้สมาชิกทั้ง 27 ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 20 ภายในปี 2020 และจะไม่ยกเลิกนโยบายนี้อย่างแน่นอน
อียู ระบุด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่สายการบินต่างๆสามารถรับได้ โดยค่าโดยสารสำหรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับเที่ยวบินระยะไกลอาจต้องปรับขึ้นประมาณ 4.0-24 ยูโร