รอยเตอร์ - สมาคมการขนส่งทางอากาศยานจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ดูบ้าง หลังจากที่เจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องกฎการค้าสิทธิ์การปล่อยมลพิษไม่รู้เรื่องมาเป็นเวลานาน หากว่ายุโรปจะลงโทษสายการบินจีนว่าไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัติฯ ที่สั่งเก็บค่าปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับเที่ยวบินต่าง ๆ แล้ว จีนเองก็คงต้องสั่งยึดเครื่องบินของยุโรปในจีนเป็นการตอบโต้
สายการบินต่าง ๆ ของจีนที่ถูกรัฐบาลปักกิ่งสั่งห้ามไม่ให้ปฏิบัติตามกฎการค้าสิทธิ์การปล่อยมลพิษ (ETS) ต่างปฏิเสธที่จะยอมรับกฎฯ ของสหภาพยุโรปในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงนามยอมรับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายคอนนี เฮเอการ์ด คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกลับออกมายืดเวลาใหม่ โดยระบุว่า การยอมรับกฎฯ นั้นสามารถเลื่อนไปได้ถึงกลางเดือนมิ.ย. ก่อนการบังคับใช้จริง
“สายการบินจีนลงมติเอกฉันท์เกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเราจะไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้” เว่ย เจิ้งจง เลขาธิการสมาคมการขนส่งทางอากาศยานจีน เผยในการประชุมสมาคมการขนส่งทางอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง
ในการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนของสายการบินระดับแถวหน้าของรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย อาทิ ตัวแทนจากแอร์ไชน่า ไชน่าเซาท์เทิร์แอร์ไลน์ และไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์
เว่ยย้ำว่า อย่างไรเสียรัฐบาลจีนก็จะคงการตัดสินใจเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และต่อต้านกฎฯ ของยุโรปอย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม เว่ยเผยว่า “พวกเราก็ควรต้องพยายามหลีกเลี่ยงสงครามการค้า”
ทั้งนี้ประเทศต่าง ๆ ทั้งจีน อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐฯ ต่างประท้วงกฎการจ่ายค่ามลพิษของสหภาพยุโรปพร้อมหน้า
“มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่มันเกี่ยวกับเรื่องอธิปไตย” พอล สตีล ผู้อำนวยการด้านสภาพแวดล้อมการบินของสมาคมอากาศยานนานาชาติเผย
แผนการของสหภาพยุโรปต้องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยคำนวณจากปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยจากสายการบินทั้งหมดที่บินเข้า-ออกยุโรป หรือแม้กระทั่งสายการบินที่บินระยะสั้นในยุโรปเองก็ตาม
นักวิจารณ์ชี้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกแซงแม้กระทั่งการเดินทางบนอากาศ
ผู้แทนสหภาพยุโรปได้มอบแผนการปฏิบัติของกฎฯ ดังกล่าวไปยังรัฐสมาชิกทั้งหมด หากประเทศใดในยุโรปไม่ถือปฏิบัติจะต้องจ่ายค่าปรับ สตีลเผยด้วยว่า หากสายการบินใดไม่ยอมจำนนจ่ายค่าปรับ มาตรการทางทฤษฎีของอียูก็คือ จะทำการกักยึดเครื่องบินของสายการบินนั้นไว้
ภายใต้แผนการของอียู เยอรมนีประกาศว่าไม่ว่าจีนจะยอมรับกฎฯ นี้หรือไม่ ตนก็จะติดตามสายการบินแอร์ไชน่าของจีน ส่วนฝรั่งเศสก็บอกว่าจะติดตามสายการบินไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์ ขณะที่เนเธอร์แลนด์บอกว่าจะดูสายการบินไชน่า อีสเทิร์นแอร์ไลน์
เว่ยโต้ออกไปว่า “พวกเรา(จีน)ก็ไม่อยากเห็นภาพ แกยึดเครื่องบินข้า ข้ายึดเครื่องบินแก”
ทั้งนี้จีนมีมาตรการตอบโต้หลังจากตกลงเรื่องกฎฯ นี้ไม่ได้ โดยสั่งชะลอผลิตแอร์บัสและเครื่องบินอื่นจากยุโรป มูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ จีนยังเรียกร้องให้อียูล้มเลิกกฎฯ นี้ภายใน 1 ปีด้วย
“องค์กรการบินพลเรือนนานาชาติ จะจัดการประชุมครั้งที่ 38 ในเดือนต.ค. 2556 และสหภาพยุโรปอาจจะเลื่อนขีดเส้นตายไปถึงเวลาดังกล่าว และอาจยินยอมปรับลดกฎฯ ดังกล่าวภายใต้การไกล่เกลี่ย” เว่ยกล่าว