เอเอฟพี - ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO)ออกมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องที่จีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก(แรร์เอิร์ธ) โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าแต่อย่างใด
สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยื่นคำร้องเรียนไปยังองค์การการค้าโลก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแรร์เอิร์ธรายใหญ่ของโลกหันมาจำกัดการส่งออกแร่มีค่าเหล่านี้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ออกมากล่าวเป็นเชิงประนีประนอมว่า “นับตั้งแต่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทถูกกำหนดขึ้น ก็ไม่เคยมีข้อพิพาทการค้าใดที่นำมาซึ่งสงครามการค้าเลย นั่นคือสิ่งที่เกิดมาในอดีต”
“ผมยังไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะทำให้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน” ลามี กล่าว
“ผมเข้าใจดีว่า การพาดหัวด้วยคำว่าสงครามการค้าอาจจะฟังดูดีกว่าความขัดแย้งทางการค้า (trade friction) แต่ยังไงมันก็ไม่ใช่ความจริง”
ลามี ซึ่งเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อวานนี้(15) ปฏิเสธที่จะถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
“เมื่อใดก็ตามที่เกิดการร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาความเสียหายที่ยังดำเนินการอยู่ ผู้อำนวยการ WTO ก็ควรจะเงียบเสีย และนั่นคือสิ่งที่ผมจะทำ” ลามี แถลงต่อสื่อมวลชน
สหรัฐฯ, อียู และญี่ปุ่น อ้างว่า จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกแรร์เอิร์ธ อาทิเช่น ลูทีเทียม (lutetium) และสแกนเดียม(scandium) มากถึงร้อยละ 97 ของปริมาณทั้งหมดในตลาดโลก กำลังเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมภายในประเทศของตนอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการผูกขาดแรร์เอิร์ธไว้เพียงประเทศเดียว
เอกสารร้องเรียนระบุว่า ปักกิ่งตั้งข้อจำกัดในการส่งออกแร่หายาก 17 ชนิด รวมไปถึง ทังสเตน และ โมลิบดีนัม (molybdenum) ซึ่งนอกจากจะเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เช่น แม่เหล็กแรงสูง, แบตเตอรี และหลอดไฟแอลอีดีแล้ว ยังใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, ไอพอด, เลเซอร์, กังหันลม และขีปนาวุธด้วย
ลามี ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนซึ่งเป็นน้องใหม่ของ WTO กับชาติสมาชิกอื่นๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดา
“นับตั้งแต่จีนก้าวเข้ามาเป็นสมาชิก ก็เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมากมาย... ความขัดแย้งทางการค้าเป็นแค่สัดส่วนทางสถิติอย่างหนึ่งของการค้าทั้งหมดเท่านั้น” ลามี เผย