“กิตติรัตน์” มั่นใจ “จีดีพี” ปีนี้ ยังขยายตัวได้ 7% ขณะที่ ครม.เศรษฐกิจถกปัญหาวิกฤตยุโรป กู้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ “พาณิชย์” รายงานตัวเลข “ส่งออก”ครึ่งปีแรกลดลงไม่ถึง 1% หากคิดเป็นบาท แต่ถ้าคำนวณเป็นดอลลาร์ ปรับลงแค่ 4% ลั่นการบริหาร ศก. มหาภาค ต้องคิดมูลค่าในรูปเงินบาท เหมาะสมสุด ยันทุนสำรองเพียบ เดินสะพัดเป็นบวก “ปู” เดินหน้าสัญญาตอนหาเสียง กระชากราคาน้ำมัน สั่ง “สภาพัฒน์-พลังงาน” ทำความเข้าใจ ปชช. ย้ำไม่กระทบต้นทุน-ค่าครองชีพ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกภาวะเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยยืนยันว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ยังเติบโตได้ตามเป้าที่ 7% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดเป้าหมายลงมา
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจวันนี้ ได้มีการหารือถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าลดลงเพียง 0.69% หากคิดตามมูลค่าเป็นค่าเงินบาท แต่ลดลงถึง 4% หากคิดเป็นมูลค่าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคแล้ว การคิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทจะเหมาะสมกว่า ซึ่งถือว่าระดับที่ส่งออกไปยังยุโรป 0.69% นั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยถือว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31 กว่าบาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นช่วงที่เหมาะสมแล้ว
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังคงมีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 7 เดือนแรกของปี เข้ามาประเทศไทยสูงถึง 12.9 ล้านคนแล้ว ฉะนั้น หากท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2555 นี้ จะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ 21 ล้านคนได้ จึงยังเชื่อมั่นว่า จีดีพีของไทยในปีนี้จะยังขยายตัวได้ 7% ตามที่คาดการณ์ไว้ได้
“แม้ส่งออกมีผลกระทบ แต่ภาคอื่น เช่น ท่องเที่ยวยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 21 ล้านคน และครึ่งปีแรก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 12.9 ล้านคน เชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามเป้า”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงพลังงาน กลับไปหาแนวทางการทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีว่า ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนในขณะนี้อย่างแน่นอน