“ยิ่งลักษณ์”สั่งกระทรวงพลังงานศึกษาสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามยุทธศาสตร์ประเทศรับวิกฤติป้องกันขาดแคลนโดยจะใช้เงินลงทุนถึง 200,000ล้านบาทยันไม่ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเล็งให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการสร้างคลังคาดจะใช้เวลา 4-5 ปีแต่ระยะสั้นจะให้เพิ่มสำรองทางกฏหมายโดยเอกชนจาก 5%เป็น6%
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 8 มิ.ย.55 ว่า กพช.มีมติให้ กระทรวงพลังงาน ไปศึกษาเรื่องแนวทางการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อความมั่นคงและเป็นเครื่องมือรองรับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ในการป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะมีการเพิ่มการสำรองน้ำมันทางกฎหมายจากปัจจุบันอยู่ที่ 36 วัน เป็น 90 วัน ซึ่งต้องมีการลงทุนคลังน้ำมัน รวมทั้งการจัดซื้อน้ำมันรวมเป็นวงเงิน 200,000 ล้านบาท
“ เบื้องต้นอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่อย่างใด ขณะเดียวกันจะต้องมีการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรการสำรองน้ำมัน คาดว่าจะใช้เวลาจัดตั้งได้เร็วสุดภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในระยะสั้น กระทรวงพลังงานจะประกาศเพิ่มการสำรองน้ำมันทางกฎหมายโดยเอกชนจาก 5%ของการนำเข้าน้ำมัน เป็นร้ 6 %หรือเพิ่มจาก 36 วัน เป็น 43 วัน”นายอารักษ์กล่าว
นอกจากนี้ กพช.มีมติให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) สร้างคลังเก็บก๊าซแอลพีจีรองรับการนำเข้า โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ วงเงินรวม 48,000 ล้านบาท โดยระยะแรกจะมีการขยายคลังนำเข้าที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี เพิ่มการจัดเก็บจาก 1.2 แสนตัน เป็น 2.5 แสนตัน ส่วนระยะที่ 2 จะมีการจัดสร้างคลังในพื้นที่ใหม่อีก 2.5 แสนตัน โดย ปตท.จะได้ผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบของการบวกเพิ่มในราคาก๊าซหุงต้มในอัตราไม่เกิน 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม
พร้อมกันนี้กพช. ยังเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2573 (พีดีพี2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 70,686 เมกะวัตต์ ในสิ้นปี 2573 และเห็นชอบให้บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ สร้างโรงไฟฟ้าใหม่กำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะหมดอายุลงในปี 2559 รวมทั้ง เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ไอพีพี และเอสพีพี รอบใหม่ ตลอดจนให้ บมจ.ปตท.จัดทำร่างแผนการจัดหารก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับแผนพีดีพี และนำกลับมาเสนอ กพช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป