xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาน” เผยแบงก์ชาติเล็งจัดอบรมสร้างสัมพันธ์ธนาคารกลางเพื่อนบ้านรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ประสาน” ชี้เข้า AEC ธนาคารกลางชาติสมาชิกควรได้พัฒนาบุคลากร-แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เผยแบงก์ชาติเตรียมหลักสูตรอบรมพร้อมดึงเพื่อนบ้านร่วมวง หวังพัฒนาความรู้ร่วมกันกับสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรแต่ละฝ่าย ส่วนสถานการณ์ ศก.ครึ่งปีหลังยังต้องจับตาวิกฤต ศก.ยุโรป เชื่อต้องไม่ประมาท-เตรียมเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมใช้

ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการบรรยายพิเศษที่หอประชุมใหญ่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงทิศทางประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าสิ่งดีที่สุดสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็คือธนาคารกลางของแต่ละประเทศควรจะได้พัฒนาบุคลากรร่วมกัน และเปิดโอกาสให้บุคลากรของแต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

ในส่วนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะดำเนินการสร้างความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะจัดให้มีหลักสูตรการอบรมรวม 5 หมวด ซึ่งการอบรมในแต่ละหมวดจะจัดอบรมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่พม่า 1 หมวด ลาว 1 หมวด กัมพูชา 1 หมวด และไทย 1-2 หมวด

การอบรมนี้นอกจากจะทำให้บุคลากรของธนาคารกลางของทั้ง 4 ประเทศได้มีโอกาสศึกษาความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่บุคลากรของแต่ละฝ่ายจะได้ทำความรู้จักคุ้นเคยและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รวมทั้งจะนำไปสู่การเอื้อให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย

ดร.ประสานกล่าวว่า ขณะนี้การเตรียมความพร้อมและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับธนาคารกลางของพม่า

โดยเป็นการนำเสนอถึงวิธีการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในส่วนที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ หรือกระบวนการเลือกใช้กลไกในการดำเนินนโยบายทางการเงิน และการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เป็นต้น

ขณะที่การดำเนินงานในส่วนของสกุลเงิน ซึ่งในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในอาเซียนยังมีสกุลเงินที่ต่างกันนั้น ดร.ประสานให้ความเห็นว่า แม้จะใช้สกุลเงินที่แตกต่างกัน แต่หากมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสกุลเงิน และความสัมพันธ์ของสกุลเงินเป็นไปโดยไม่มีการบิดเบือน ก็จะทำให้สกุลเงินต่างๆ สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น พม่าใช้เงินจั๊ต ไทยใช้เงินบาท ล่าสุดพม่ากำหนดมูลค่าเงินที่ 800 จั๊ตเท่ากับ 1 ดอลลลาร์ ขณะที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30 บาทไทย เพราะฉะนั้น 800 จั๊ตก็จะเท่ากับ 30 บาท

เมื่อกำหนดอย่างนี้แล้วก็ถือว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างสกุลเงินจั๊ตกับบาท นักธุรกิจก็สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนนี้ในการค้าขายได้ และถ้าต่างฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ที่น่าเชื่อถือ สกุลเงินนี้ก็เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนสินค้าและทำธุรกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ การที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนหลายฝ่ายจากความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) Fund) ก็ถือเป็นการช่วยเหลือกันในระดับภูมิภาค โดยเป็นการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Safety Net เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าหากเกิดวิกฤตการณ์ใดๆ ที่ทำให้สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งเกิดปัญหาด้านความมั่นคงขึ้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจโดยรวมในระดับภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนที่ทำธุรกิจ ทำการค้าขายว่าสามารถใช้สกุลเงินที่มีอยู่ในภูมิภาคได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอุปสรรคในการแลกเปลี่ยน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ว่าคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นนับตั้งแต่เริ่มฟื้นตัวหลังเหตุอุทกภัยในปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขต่างๆ ทั้งอุปสงค์ในประเทศ การลงทุน การอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจโลกถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

ดร.ประสานกล่าวว่า ในขณะนี้ยอมรับว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปเป็นสิ่งที่เฝ้าระวัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาดูเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. การค้าต่างประเทศ โดยอาจจะส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ รวมทั้งรัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

2. ตลาดการเงิน ที่ในขณะนี้มีความอ่อนไหวและผันผวนมาก จำเป็นที่ไทยจะต้องรักษาภูมิต้านทานที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง ซึ่งในส่วนนี้ไทยยังมีอัตราเงินสำรองที่ค่อนข้างมั่นคง ซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยยังคงมีเสถียรภาพ หรือหากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก อีกทั้งยังต้องระวังในเรื่องของสภาพคล่องตลาดเงิน โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ย

และ 3. สถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆ ก็มีการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินในยุโรป แต่โชคดีที่บทบาทของสถาบันการเงินจากยุโรปต่อสถาบันการเงินในไทยยังมีไม่มาก อีกทั้งสถาบันการเงินของไทยเองก็มีการปรับปรุงจนมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นคือต้องไม่ประมาท รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมในส่วนของเครื่องมือต่างๆ เอาไว้ เพื่อที่ในภาวะที่จำเป็นจะได้มีเครื่องมือที่หลากหลายให้เลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้

กำลังโหลดความคิดเห็น