xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้นซอฟต์โลน คุมวงเงินเฉพาะกลุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ประสาร" เผยซอฟท์โลนต้องระวัง ขอศึกษาความชัดเจน ยันต้องทำเป็นการชั่วคราว เฉพาะกลุ่ม เพราะหมิ่นเหม่ต่อวินัยทางการเงิน ถ้าแตะนิดๆ รับได้ แต่ถ้ามากไปตลาดและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะตั้งคำถามได้ พร้อมส่งทีมสำรวจนิคมฯบางปะอิน-ไฮเทคก่อนเสนอ กนง.พิจารณาดอกเบี้ยและประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ

กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ออกมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่ประชาชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กล่าวว่า หากรัฐบาลจะให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ต้องดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2551 ถ้าจะให้มีผลบังคับใช้เร็ว ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ต้องระบุให้ชัดเจน เจาะจงเป็นกรณีพิเศษว่าจะให้สินเชื่อแก่กลุ่มใดที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม เช่น เอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนรายย่อย

สำหรับวงเงินสินเชื่อ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า ควรกำหนดตามความจำเป็น เพราะถ้ามากเกินไปจะเป็นภาระในการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงินได้ และอาจมีการขอสินเชื่อแบบนี้ได้อีกในอนาคต ซึ่งต้องระมัดระวังมาก และพยายามควบคุมวงเงินให้อยู่ในวงจำกัด เพราะอาจกระทบความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรระบุให้ชัดเจนว่า ต้องการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มใด เพราะคงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ทุกกลุ่มได้ และอาจทำให้กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบได้รับประโยชน์

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เสนอให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรึกษาหารือและขอความเห็นชอบคณะกรรมการ ธปท. (กกธ.) คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ และมองว่าหากท้ายที่สุดจะดำเนินการเรื่องนี้ทางรัฐบาลจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อแก้ไขกฎหมายในพ.ร.บ.ธปท.ปี51 ซึ่งปัจจุบันระบุข้อห้าม ธปท.ปล่อยซอฟท์โลน

“เรื่องซอฟท์โลนต้องดูว่าทำแล้วจะสร้างประโยชน์และไม่ผิดหลัก พร้อมทั้งต้องอธิบายได้อย่างโปร่งใส ซึ่งเรื่องนี้อยู่ชายขอบของวินัยทางการเงิน ถ้าแตะนิดๆ ทำไม่มาก ตลาดรับได้ แต่หากทำเยอะตลาดการเงินจะตั้งคำถามได้ ขณะเดียวกันหากทำไม่ดีกลไกตลาดเตือนได้จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการดำเนินงานของธปท.ก็มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้หรืออยู่ในฐานะขาดทุนอยู่ จึงเหมือนกับว่าเอางบดุลของธปท.มารับภาระ ถือว่าผิดหลักสากลที่ธนาคารกลางทำกันเหมือนกับพิมพ์เงินออกมาแก้ไขปัญหาให้ภาระการคลัง อีกทั้งการออกซอฟท์โลนจะต้องคำนึงด้วยว่า ธปท.ต้องรับภาระในหลายอย่างทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ถูกว่าอัตราดอกเบี้ยท้องตลาดทั่วไป การดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งปีก่อนภาระในส่วนนี้มากถึง 1.3 แสนล้านบาท และเมื่อถึงช่วงสิ้นปี หักลบค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้วจะมีผลให้กำไรนำส่งคลังยิ่งลดลง

อย่างไรก็ตาม หากธปท.ต้องออกซอฟท์โลนก็ต้องมีเงื่อนไขที่รัดกุมว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ให้รัฐบาลนำไปใช้อย่างอื่น แต่ต้องมีกลไกที่เชื่อมั่นได้จริงๆ ว่านำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายย่อยที่เดือดร้อนจริงๆ และควรจำกัดเฉพาะคราว เฉพาะกลุ่มไม่ควรทำเป็นการทั่วไปไม่เช่นนั้นตลาดการเงินจะตั้งข้อสงสัยได้ว่าประเทศไทยใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเอาภาระการคลังไปอยู่ในงบดุลของธนาคารกลาง แม้ในยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะขณะนี้อย่างน้อยก็โปร่งใสว่าเป็นเรื่องภาระทางการคลัง ไม่ใช่ของธนาคารกลาง

**คาดปีหน้าส่งออกโตแค่ 8%**
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมในปี 55 มองว่ายังคงขยายตัวได้ประมาณ 4.8% เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจยังดีอยู่และสถานการณ์ต่างๆ คงไม่เลวร้ายนัก โดยมองว่าการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว การผลิต รวมถึงการลงทุนจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ไม่เกินช่วงไตรมาส 2 หรือกลางปีหน้าจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการส่งออกอาจต้องเผชิญเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

"คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 8% จากช่วงปีนี้ที่ผ่านมาขยายตัวถึง 20-30% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ทำได้ดี"

**ส่งทีมสำรวจนิคมบางปะอิน-ไฮเทค**
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในวันนี้ (20 ธ.ค.) ธปท.จะส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่ธปท.จะเข้าไปประเมินสถานการณ์ ความเสียหาย พร้อมทั้งดูการเปลี่ยนแปลงและการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆหลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย และนำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในการประชุมครั้งต่อไป คือ วันที่ 25 ม.ค.55 เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายและประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น