xs
xsm
sm
md
lg

คาดดอกเบี้ยไทยปีหน้าทรงตัว3% ธปท.จ่อเบรคนโยบายการเงินกระตุ้นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทิสโก้คาด ดอกเบี้ยไทยปีหน้าทรงตัวระดับ 3.0% ระบุเงินเฟ้อขึ้นชั่วคราวหลังน้ำท่วม แต่ระยะยาวอาจเห็นการลดเบี้ยของธปท.ได้ หลังปรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม



บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยรายงานจาก TISCO Wealth บริการที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนของบริษัทว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า(2012)น่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.0% อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญอีกประการคือมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ที่จะผลักดันผ่านคณะกรรมการพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ว่าจะสามารถช่วยให้ภาคการผลิตและภาคครัวเรือนฟื้นตัวจากภาวะชะงักงั้นได้ผลอย่างไร

ส่วน ผลกระทบของอุทกภัยและความเสียหายตามที่ คาดการณ์ไว้ ทำให้เชื่อได้ว่าปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าผลของเงินเฟ้อจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. หนึ่งในคณะกรรมการ กนง. ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า ธปท. พร้อมจะนำมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นมาใช้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภายใต้การกำหนดนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อแบบใหม่ที่เพิ่งได้รับอนุมัติ ทำให้กนง.มีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยไม่ขัดกับนโยบายในการควบคุมเงินเฟ้อของ ธปท.

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วงสิ้นเดือนที่แล้ว น่าจะมีผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2011 อาจปรับลดลงมาที่ระดับ 1.9% เนื่องจาก ผลของน้ำท่วมนอกจากจะทำให้สินค้าและทรัพย์สินเสียหายแล้ว ยังส่งผลถึง อุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งทาง TISCO WEALTH คาดว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยนั้นอาจสูงกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากเดิมผลของความเสียหายเกิดขึ้นใน 31 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครอีก 30 เขต มากกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 9 เขต และสถานการณ์น้ำที่อาจจะยืดเยื้อถึงเดือนธันวาคม ทำให้ความเสียหายขยายตัว

2.ด้านอุปทานมองว่า นิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 5 แห่ง ใน จ. พระนครศรีอยุธยา และ จ. ปทุมธานี เสียหาย และหยุดการผลิตไปนั้น รวมถึง นิคมอุตสาหกรรม อีก 4 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและมีการยุติกิจกรรมการผลิตลงเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ ส่งผลให้สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตหยุดชะงัก ต้องชะลอการจัดส่งสินค้า ซึ่งสินค้าบางส่วนเป็นสินค้าสำเร็จ บางส่วนเป็น วัตถุดิบของอุตสาหกรรมอื่น ทำให้เกิดการขาดช่วงในห่วงโซ่อุปทาน

3.ด้านอุปสงค์ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นและการแก้ปัญหาที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ทำให้ การบริโภคในประเทศอาจจะได้รับผลกระทบ และครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะชะลอการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าคงทนออกไป

สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่า เส้นอัตราผลตอบแทน Yield Curve ปรับตัวลดลง โดยพันธบัตรที่มีช่วงอายุคงเหลือน้อย ปรับลงมากกว่า พันธบัตรที่มีช่วงอายุคงเหลือมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การได้รับอนุมัติให้ปรับนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อใน ปี 2012 จากปัจจุบันที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5% - 3.0% เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปี 3.0% (? 1.5%) ทำให้ (กนง.) มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนอัตรานโยบายมากขึ้น และผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่ยืดเยื้อ ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

ทั้งนี้ มองว่ากนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้นโยบายลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิม ประกอบกับในเดือนตุลาคมไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทำให้มี Supply ใหม่มีน้อย อีกทั้งปัจจัยภายนอกที่ดีขึ้นหลังจาก ผลการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G-20 ที่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาวิกฤติ
 
ส่วน ตลาดเงินฝาก คาดว่าในไตรมาสนี้การแข่งขันของ ธนาคารพาณิชย์ ในด้านการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยจะเบาบางลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้ม ปรับตัวลดลง ส่งสัญญาณให้ผู้ฝากเงินเริ่มมองหาเงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มีระยะเวลายาวขึ้นเพื่อเป็นการให้ไม่พลาดโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในระดับที่ยังสูงอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 3.25%
กำลังโหลดความคิดเห็น