xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:ไทย: ดาวบริวารทุนนิยมที่กำลังล่มสลาย?!

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

จะว่าไปแล้ว ใช่ไหมว่าห้วงยามแหงนหน้ามองนภาครารัตติกาล จุดแสงบนม่านมืดมิดกะพริบระยิบระยับวับวาวราวความหวังมลังเมลืองของดาวฤกษ์นั้นดึงดูดสายตากว่าแสงสะท้อนบนพื้นผิวดาวเคราะห์จากดวงอาทิตย์เป็นไหนๆ ไม่ต่างอันใดกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งระดับประเทศและโลกอันเนื่องมาจากการตะกละละโมบของระบบทุนนิยมก็กลับมาอร่ามเรืองสว่างไสวได้ด้วยความพอประมาณของเศรษฐกิจพอเพียงที่เปรียบประดุจดาวฤกษ์ส่องสว่างทางข้างหน้า

ด้วยดาวฤกษ์ย่อมต่างจากดาวเคราะห์อยู่แล้วแม้นจะโคจรในจักรวาลเดียวกัน

การล่มสลายของระบบทุนนิยมอย่างรวดเร็วและกระทบเป็นห่วงโซ่คุกคามทุกประเทศเวลานี้มีที่มาจากการขาดธรรมาภิบาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอมริกาที่สถาปนาตนเองเป็นมหาอำนาจทุนนิยม

ต่อให้ได้ผู้นำใหม่มากวิสัยทัศน์อย่างบารัค โอบามา หากทว่าโครงสร้างเศรษฐกิจยังเอื้อต่อการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวไม่สิ้นสุด ดังกรณี AIG ที่พยายามจ่ายโบนัสแก่ผู้บริหาร 165 ล้านเหรียญสหรัฐจากเงินพยุงบริษัทให้อยู่รอดของรัฐบาล ความล่มสลายของระบบทุนนิยมย่อมตามมาแน่นอนด้วยท้ายสุดไม่อาจหยุดยั้งสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกขานว่า ‘Corporate greed culture’ ได้

ครั้นศูนย์กลางทุนนิยมอย่างอเมริกาที่สร้างมายาภาพว่าเป็นดาวฤกษ์ ทั้งที่สถานะแท้จริงเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์สูญเสียสมดุล เหล่าดาวบริวารที่โคจรรายรอบหลายเหล่ก็เสียวิถีโคจรและจังหวะหมุนรอบตัวเองตามไปด้วยโดยปริยาย หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยที่ทอนตนเองเป็นดาวเคราะห์บริวารทุนนิยมนำพาเศรษฐกิจทั้งระบบเข้าผูกพันกับความรุ่งเรืองหรือตกต่ำของเศรษฐกิจอเมริกาแนบแน่น

กระทั่งนอกจากจะได้รับผลกระทบตามมามหาศาลจากวิกฤตทุนนิยมในอีกซีกโลกหนึ่งแล้ว ประเทศไทยยังเสีย ‘ดุลยภาพสุขภาวะระยะยาว’ จากการเรียนรู้วิธีเอารัดเอาเปรียบเบียดบังคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ตามตัวแม่อเมริกา ดังท่าทีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) อันเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย (Legal binding) เพื่อลดสภาวะโลกร้อนก็กระจ่างแจ้งแล้วว่าอเมริกาให้นำหนักเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

ไม่ต่างอันใดกับอุตสาหกรรมในประเทศบริวารทุนนิยมอย่างไทยก็ใช้วาทกรรมกระทบท่องเที่ยว-ลงทุนเข้าลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ตามสิทธิอำนาจรัฐธรรมนูญเสมอๆ ดังกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ท้ายสุดต้องใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์สร้างความเป็นธรรมขึ้นมาหลังสุขภาวะประชาชนและสิ่งแวดล้อมเสื่อมทรุดจากการปล่อยมลพิษโดยแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปัดปฏิเสธความรับผิด (Blame avoidance) มานานนับทศวรรษ

นับวันความขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจการท่องเที่ยวกับสิทธิชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะทวีคูณความสลับซับซ้อนและดึงดูดตัวละครมากหน้าหลายตาทั้งกุมอำนาจรัฐและทุนหรือสิ้นไร้อำนาจต่อรองอย่างคนปลายอ้อปลายแขมเข้ามาร่วมรบไม่รู้จบสิ้น ประหนึ่งดวงดาวที่ล่องล่อยอยู่ในอวกาศได้ก็ด้วยอิทธิพลแรงดึงดูดระหว่างกัน

กล่าวเฉพาะกลไกแรงดึงดูดของระบบทุนนิยมก็ย่อมดึงดูดผู้คนกลุ่มก้อนองค์กรที่เชื่อในคตินิยมมือใครยาวสาวได้สาวเอาเข้ามารวมหมู่กันเพื่อตักตวงผลประโยชน์ส่วนตนบนประโยชน์สาธารณะ ขณะผู้คนองค์กรสถาบันที่เชื่อมั่นในศักยภาพชุมชนท้องถิ่นก็จะถูกดึงดูดให้เข้าร่วมผลักดันคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดโลกร้อนโดยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ผ่านพฤติกรรมส่วนตัว ตลอดจนให้ความร่วมมือระดับต่างๆ ตั้งแต่ชุมชน สังคม ประเทศ ทวีป และโลก

ระดับโลกกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) หนึ่งรูปธรรมแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะเรือนกระจกของประชาคมโลก ยามผสานหลักฐานวิทยาศาสตร์หนักแน่นของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ฉบับที่ 4 ที่ระบุสาเหตุแห่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 90 มาจากมนุษย์ ก็ทำให้ไม่มีตัวการอื่นอีกที่มีนัยสำคัญแล้ว

ทว่าจนแล้วจนรอดมวลมนุษย์ ‘แหล่งกำเนิดโลกร้อน’ ก็ไม่ได้ปรับพฤติกรรมเพื่ออยู่รอด อย่าว่าแต่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้เท่าทันท่ามกลางสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเลย

ละม้ายปรากฏการณ์เศรษฐกิจทุนนิยมวันนี้ที่ถึงที่สุดแล้วน่าจะยืนยันชัดว่าความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากตลาดทุนนิยมเสรีนี้ไม่มีจริง ดังการล่มสลายของอภิบริษัทการเงินจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนถ้อยสัมภาษณ์ของจอร์ช โซรอส แก่สถานี CNN ปลายปี 2535 หลังทำกำไร 2 พันล้านเหรียญสหรัฐว่าระบบตลาดไม่ดีจริง จึงสามารถแสวงหาประโยชน์จนร่ำรวยมหาศาลได้

เฉพาะไทย ไม่ใช่แค่มีบทเรียนรวดร้าวคราวต้มยำกุ้งจากการทำทุกสิ่งเกินตัวและการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิชุมชนผ่านกรณีล้มเหลวด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเท่านั้น ทว่าขณะนี้ยังก้าวหน้ากว่าด้วยการบัญญัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา 83 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนาประเทศเพื่อเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ดำรงอยู่ ปฏิบัติตน และทำงานของประชาชนทุกระดับ บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุผล และคุณธรรมภายใต้เงื่อนไขของความรู้คู่คุณธรรม

มากกว่านั้นสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยตามมาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนหยุดยั้งโครงการหรือกิจกรรมอันอาจก่อผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ยามผสานกับการเปิดกว้างด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตามมาตรา 87 ที่ ‘โครงการรัฐธรรมนูญกับสุขภาวะ’ พยายามผลักดันอยู่ ก็ทำให้ไทยมีความหวังหลุดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจก่อนประเทศบริวารทุนนิยมอื่นๆ หรือแม้แต่แม่แบบทุนนิยมเอง

กระทั่งสามารถผลิบานเศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรมอันเกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคลที่มีสัมมาชีพมั่นคง ปลอดภัย มีรายได้พอเพียงต่อการดำเนินชีวิต และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรธุรกิจ ภายใต้พัฒนาการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ เสถียรภาพ และที่สำคัญมีการกระจายรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงเป็นธรรมกระทั่งลดเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างคนรวยหยิบมือกับคนจนทั้งแผ่นดินได้

ไม่ใช่เท่านั้น ถ้าสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเครือข่ายผู้นำทางความคิด วิชาการ การเมือง องค์กรภาครัฐ องค์การภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชนและประชาชน ตลอดจนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน ที่ผนึกพลังความคิดและการกระทำร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ก็จะชี้ทางสว่างยามเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำคลี่คลุม คล้ายดังบทบาทดาวฤกษ์ที่มนุษย์ยุคอดีตยันปัจจุบันใช้เป็นเข็มทิศคราเดินทางแสวงหา กำหนดช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชผล จนถึงก่อร่างสร้างอารยธรรม

ทว่าว่าก็ว่าเถอะต่อให้จัดทำตัวชี้วัด (Indicator) ถ้อยคำนิยาม (Definition) กระทั่งยกตัวอย่าง (Example) ชัดเจนยิ่งในระดับเจตนารมณ์กฎหมายสูงสุด พันธกิจหน่วยงานรัฐ หรือวิสัยทัศน์องค์กรเอกชนก็ไม่อาจทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงก้าวหน้าได้ถ้าในวันนี้ยังรัดร้อยประเทศไทยไว้ในแรงดึงดูดมหาศาลของดาวเคราะห์จักรวรรดิทุนนิยมอเมริกา ดั่งดาวเคราะห์บริวารทุนนิยมที่วิถีโคจรเวียนวนรอบดาวเคราะห์ทุนนิยม ทั้งๆ ประจักษ์การแตกสลายรวดเร็วของดาวดวงนั้น

เช่นนี้แล้ว ประเทศไทยในฐานะดาวบริวารทุนนิยมจะรอดพ้นภาวะล่มสลายอย่างไรได้?!

ในเมื่อมีเศรษฐกิจพอเพียงกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศทุกด้านอยู่แล้ว ไยยังจะหมุนเวียนรอบดาวเคราะห์ทุนนิยมที่กำลังตายอยู่อีก ทั้งที่เพียงเปลี่ยนวงโคจรมาหมุนรอบดาวฤกษ์เศรษฐกิจพอเพียง สภาวะดาวเคราะห์บริวารทุนนิยมก็จะล่มสลายโดยปริยาย กลับกลายเป็นดาวฤกษ์สุกสกาวที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้เป็นเข็มทิศก้าวตามเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น