xs
xsm
sm
md
lg

อัดทุ่ม 40 ล.จัด 90 ปีการสาธารณสุขสวนศก. โวยไม่เคยหาเงินช่วยรพ.ชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข
ชี้สธ.ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจลดผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริหารต้องฉลาด ไม่ฟุ่มเฟือย ชี้วิ่งหางบจัดงาน “90 ปี สาธารณสุข” ทุ่ม 40 ล้าน สวนกระแสเศรษฐกิจ ขณะที่ไม่เคยหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลชายแดนที่วิกฤติ เซ็งหมอไม่ค้านนโยบายประชานิยมจ่าย 600 บาท ให้อสม. ทำลายระบบจิตอาสา ด้านรพ.เอกชนปรับตัวแชร์อุปกรณ์การแพทย์กับสปสช.เบิกจ่ายราคารัฐ ให้รพ.อยู่ได้ มั่นใจรัฐบาลไม่ลดค่าเหมาจ่ายรายหัว

วันที่ 20 มีนาคม ที่อิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ในงาน “90 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” มีการเสวนาเรื่อง ความมั่นคงสุขภาพคนไทยในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยนายมินิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน แม้ขณะนี้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ต้องหาวิธีการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพให้น้อยลงไม่ใช่ละเลยการดูแลสุขภาพ ซึ่งความมั่นคงด้านสุขภาพไม่ได้หมายถึงเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเติบโตและรู้เท่าทันบริษัทข้ามชาติ ไม่ปล่อยให้มีการผูกขาดยาโดยมีกลไกในการควบคุมราคายา รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกระบวนการผลิตยาภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผูกขาดโดยจะต้องมองให้รอบด้านมีการกำกับยาของอภ.ให้มีคุณภาพและเปิดโอกาสให้บริษัทยาได้แข่งขันกับอภ.เพื่อให้ยามีมาตรฐาน

“ในช่วงภาวะวิกฤตกว่า1 ปี ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินวิกฤติบริษัทยา ซีอีโอบริษัทยายังได้โบนัส เพราะบริษัทยายืนยงคงกระพันแม้ว่าจะมีภาวะวิกฤต เคยสังเกตหรือไม่ว่า ในขณะที่โรงพยาบาลกำลังจ่ายยายาสามัญ แต่ค่ายาไม่ได้ลดลง แต่กลับมีราคาไม่ต่างจากราคายาต้นตำรับ เพราะเคยพาแม่ไปหาหมอโรคพาร์กินสันแต่ยาก็ราคาแพงเหมือนเดิม”

นายนิมิตร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการโดยการลดการจ่ายยาต้นตำรับ และหันไปใช้ยาสามัญมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย ซึ่งที่ผ่านมาหากใครที่นิยมไปพบแพทย์ที่คลินิก เมื่อมีอาการหวัด ไอ จะต้องจ่ายค่ารักษาถึง 800 บาท เพราะเราอยู่บนฐานการใช้ยาฟุ่มเฟือย หากเราจะฝ่าฝันวิกฤตจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดไม่ใช่แบบแพทย์พาณิชย์และต้องใช้ยาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ที่สำคัญคนกระทรวงสาธารณสุขต้องฉลาดและหาคนที่เข้มแข็งยิ่งกว่านี้ ที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็นภาวะผู้นำของผู้บริหารกระทรวงไปหาและช่วยแก้ไขปัญหา มีแต่ผู้ป่วยเท่านั้นที่เรียกร้องกัน อยากถามว่า เคยรู้หรือไม่ว่า ตามตะเข็บชายแดนมีปัญหางบประมาณและสุขภาพมากขนาดไหนแต่ไม่มีเลยที่จะหาเงินไปช่วยคนบริเวณชายแดน ขณะที่ผู้บริหารสธ.พยายามจะหาเงินมาจัดประชุมครั้งนี้ที่ต้องใช้เงินมากกว่า 40 ล้านมาจัดงาน”นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังไม่มีบุคลากรสาธารณสุขคนไหนที่คัดค้านการจ่ายเงินให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 600 บาท ถือเป็นการไปกวนระบบของกระทรวงสาธารณสุขทำลายระบบจิตอาสาของคนในชุมชน เพื่อจะช่วยรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจะต้องทบทวนให้ดีว่า จะมีผลผูกพันในเรื่องค่าจ้างหรือไม่ เพราะหากจะใช้นโยบายประชานิยมจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้าน นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชน คลินิกแพทย์และรพ.มาตรฐานทั่วไป เมื่อเกิดภาวะวิฤตเศรษฐกิจ จะมีงานน้อยลง ผู้ป่วยน้อยลง การใช้สถานที่ อาคาร การใช้ทางการแพทย์ลดลง ผู้ป่วยจะจู้จี้มากกว่าเดิม เพราะเงินหายาก ซึ่งจะส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์เครียดมากขึ้น บุคลากรเริ่มไม่มั่นใจ เพราะถูกลดโอที หรือตัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันหากรักษาพยาบาลไม่ดีก็จะโดนฟ้องร้องด้วย

“ขณะนี้รพ.เอกชนถ้าขึ้นราคาก็จะอยู่ไม่ได้ สถานที่ อุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็จะต้องถ่ายเทช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น โดยกลุ่มรพ.กรุงเทพฯ ได้นำเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์นำมาใช้ร่วมกันและให้เบิกในราคาของรัฐ ทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย และเตียง เช่น การผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ มีการร่วมกันรับผิดชอบมากขึ้น”นพ.ชาตรีกล่าว

นพ.ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข หลังประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว หากเปรียบกับประเทศในอาเซียน เช่น ศรีลังกา และคิวบา และจีน จะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและใกล้ๆมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยรัฐบาลจ่าย70 % ขณะที่ประชาชนจ่ายเพียง 30 % ดังนั้น ในการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในอนาคตควรจะมีการนำระบบร่วมจ่ายมาใช้เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข ช่วงวิกฤตปี 2540 ทำให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณด้านสุขภาพ โดยรัฐเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวเพียงเล็กน้อย การเพิ่มค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุขใช้งบเพียง 5 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการให้บริการทั้งคุณภาพและปริมาณ อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้คาดว่า ไม่กระทบกับงบประมาณเหมาะจ่ายรายหัวโดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าครม.จะมีการพิจารณางบประมาณในส่วนของสปสช. ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ลดลงอย่างแน่นอน เพื่อรองรับผู้ตกงานที่จะเปลี่ยนสิทธิจากประกันสังคมมาเป็นบัตรทองซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1-2 แสนคน

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้สปสช.ได้เตรียมการรับมือภาวะเศรษฐกิจโดยพยายามสื่อสารให้ประชาชนรับรู้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ พัฒนาระบบไอที เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบสิทธิและสื่อสารกับสำนักงบประมาณและคณะรัฐมนตรีผ่านนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เพื่อของบประมาณเพิ่มเติมตามความจำเป็นต่อไป

ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากเมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพิงภาคธุรกิจต่างประเทศ และขณะนี้เริ่มมีปัญหาทางการเงิน ส่งผลให้มีการลดคนงาน ลดการจ้างงานนอกเวลา และลดลูกจ้างเหมาเพราะกฎหมายเปิดช่องโหว่ไว้ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคนระดับล่าง เช่น แรงงาน ลูกจ้าง ขณะที่ในปี 2540 เป็นการเกิดผลกระทบกับกลุ่มคนระดับบนและระดับล่าง ซึ่งเป็นความแตกต่างกัน

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจขณะนี้ยังไปไม่ถึงเกษตรกร เพราะสินค้าเกษตรในต่างประเทศยังไม่โดนผลกระทบมากนัก และยังได้รับราคาดีกว่าที่ควรมาก เนื่องจากรัฐบาลได้ติดต่อและจำนำสินค้ากับต่างประเทศไว้แล้ว แต่ในอนาคตไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอุ้มไปได้เพียงใด”ศ.ดร.อัมมารกล่าว

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบต่อระบบสุขภาพ คือ คนงานที่ถูกเลิกจ้างซึ่งเคยได้รับการดูแลสุขภาพในระบบประกันสังคม (สปส.) แม้ตามกฎหมายจะคุ้มครองต่อถึง 6 เดือน แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนมาใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะหันมาเลือกใช้บริการสุขภาพของบัตรทองแทนที่จะจ่ายเอง ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขจากที่คนไข้ต้องรอพบแพทย์ 3 นาที ก็อาจต้องเหลือเพียง 2 นาที
กำลังโหลดความคิดเห็น