กรมการแพทย์ รีบแจงหญิงตายทั้งกลมคาโรงพยาบาลนพรัตน์ เหตุจากน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือด แจ๊กพอตโอกาสเกิดกับหญิงท้อง 1 ใน 3 หมื่น ยันไม่ได้แก้ตัวแทน เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหากผิดลงโทษตามวินัยแน่ ขณะที่ผลชันสูตร ค้านหมอชี้ตาย เพราะช็อกมดลูกแตก
จากกรณีที่ น.ส.น้ำอ้อย ตุ้มทับ อายุ 22 ปี ตั้งครรภ์ และมีอาการปวดท้องคลอดบุตรและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลัง น.ส.น้ำอ้อย อยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม โดยญาติได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแพทย์ พยาบาลว่าทำการโดยประมาทนั้น
วันนี้ (2 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเรียกผู้บริหาร รพ.นพรัตนราชธานี เข้าพบเพื่อรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่า จะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ และได้ประสานไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้จ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 2 แสนบาท แก่ญาติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นทันที โดยยังไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด
โดยนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้แพทย์ พยาบาล ต้องให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงสุด หากมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ ประมาทเลินเล่อจะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด
นพ.เรวัติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเวชระเบียน และสอบถามจากแพทย์ รพ.นพรัตนราชธานี แล้ว เบื้องต้นคาดว่า สาเหตุการตายตามข้อมูลทางวิชาการ น่าจะเกิดขึ้นจากน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือด ที่เรียกว่า Amniotic Fluid embolism หรือ Anaphylactoid syndrome of pregnancy ซึ่งจะมีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 3 หมื่นรายของหญิงตั้งครรภ์ และมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60-70 โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและยังไม่ทราบสาเหตุ แต่จะมีอาการบ่งบอก คือ จะมีอัตราชีพจรเต้นเร็วขึ้นอยู่ที่ 120-140 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วขึ้นอยู่ที่ 30-36 ครั้งต่อนาที จากปกติซึ่งอยู่ที่ 16-20 ครั้งต่อนาที ซึ่งแม้แต่การรักษาที่ดีเยี่ยมโอกาสรอดชีวิตก็ยังน้อย
“จะใช้เวลาในการพิจารณาเวชระเบียนอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่า มีการทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้แก้ตัว ไม่ได้ปกป้อง ไม่มีเจตนาให้ข้อมูลที่ช่วยเหลือกัน ถ้าคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแล้วเห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือประมาทเลินเล่อ แพทยสภาก็จะตัดสินลงโทษตามบัญญัติของวิชาชีพ และในฐานะข้าราชการก็จะต้องดำเนินโทษทางวินัยด้วย”นพ.เรวัติ กล่าว
ด้านนพ.อุทัย ตัณศลารักษ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าวมาโรงพยาบาล เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 30 มกราคม ด้วยอาการเจ็บครรภ์ ซึ่งเมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ายังไม่เจ็บครรภ์คลอด จึงให้กลับบ้านและฝากครรภ์กับคลินิกชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เนื่องจากไม่ได้ฝากครรภ์มาก่อน พร้อมทั้งแนะนำว่าหากมีอาการเจ็บครรภ์อีกให้มาที่โรงพยาบาลได้
นพ.อุทัย กล่าวว่า จากนั้นผู้ป่วยกลับมาที่โรงพยาบาลอีก และพบว่า ปากมดลูกเริ่มเปิดประมาณ 1 เซนติเมตร แต่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์ถี่ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า มารดาใกล้คลอด อีกทั้งมดลูกยังไม่มีการบีบรัด แพทย์จึงให้นอนที่ห้องคลอดเพื่อคอยเฝ้าดูอาการ เนื่องจากอาจเป็นการเจ็บครรภ์เตือน หรือเจ็บครรภ์ปลอม ประกอบกับผู้ป่วยไม่ได้ฝากครรภ์มาก่อน จึงอาจยังไม่ครบกำหนดเต็มที่ รวมถึงผู้ป่วยจำไม่ได้ว่ามีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อใด ทำให้ไม่ทราบกำหนดวันคลอดที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน แพทย์ก็ไม่สามารถทำการผ่าตัดคลอดได้ เนื่องจากการผ่าตัดคลอดจะต้องมีข้อบ่งชี้ ไม่ใช่อยากผ่าก็ผ่าได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้มารดาเคยคลอดบุตรมาแล้ว ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 3 จึงสามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ
“คนไข้ไม่ได้เสียชีวิตทันที เพราะเหตุเกิดตอน 4 ทุ่ม ของวันที่ 31 มกราคม แพทย์ได้ทำการช่วยชีวิตโดยใส่เครื่องช่วยหายใจทันที เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการช็อก ไม่สามารถหายใจเองได้ ซึ่งแพทย์ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยืนยันว่า โรงพยาบาลมีมาตรฐานมีการตรวจอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทุก 4-6 ชั่วโมงอยู่แล้ว ยกเว้นว่า อาการหนักมากก็จะมีการการตรวจติดตามอาการความคืบหน้าใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์ห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ โดยระหว่างนั้น มีการนำตัวคนไข้เข้าเครื่องคำนวณระยะครรภ์ และตรวจอัตราการเต้นของหัวใจเด็ก ซึ่งพบว่าปกติ แต่มดลูกยังไม่บีบตัวแพทย์จึงให้รอดูอาการต่อ เพื่อรอให้พร้อมในการคลอด จากนั้นจึงตรวจพบว่า คนไข้มีอาการ น้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือดเกิดขึ้น เกิดภาวะช็อก เมื่อตรวจครรภ์อีกครั้งก็พบว่า หัวใจเด็กหยุดเต้นไปแล้ว จึงได้ทำการช่วยเหลือแม่เด็กอย่างเต็มที่ต่อไป”นพ.อุทัย กล่าว
นพ.อุทัย กล่าวอีกว่า ในการช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วยสูตินรีแพทย์จะต้องคำนึงถึงสาเหตุการทำให้เกิดวิกฤตของมารดา และเด็กทารกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งพบว่าเด็กเสียชีวิตระหว่างที่แม่เกิดวิกฤตมีภาวะช็อก ซึ่งคาดว่า ขณะนั้นโอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก จึงได้โทรศัพท์เชิญสามี และแม่ของผู้ป่วยมารับถามสถานการณ์และอธิบายทันที แต่การที่ญาติไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้ป่วยจึงเสียชีวิตถือเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจยังทำใจไม่ได้ ซึ่งน่าเห็นใจเช่นกัน
“อาการดังกล่าวสามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายตัว โดยรอบๆ ของกล้ามเนื้อมดลูกจะมีเส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดง เลี้ยงอยู่ เมื่อมดลูกมีการบีบตัว เส้นเลือดดำที่เลี้ยงอยู่จะถูกบีบและเกิดภาวะสุญญากาศขึ้น ซึ่งขณะที่ใกล้คลอดเยื่อหุ้มมดลูกจะเริ่มลอกตัว และมีน้ำคร่ำซึมออกมา ซึ่งภาวะน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือด เกิดจากเมื่อเส้นเลือดดำเกิดสุญญากาศขึ้น และมีน้ำคร่ำซึมออกมา เส้นเลือดดำมีการดูดน้ำคร่ำกลับเข้าไปในเส้นเลือดทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ขั้นรุนแรง ส่วนสาเหตุที่เด็กตายก่อน อาจเกิดจากช่วงที่แม่เกิดภาวะช็อก ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงเด็กจนเสียชีวิตลง”นพ.อุทัย กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.นพ.สมยศ ดีมาก นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากการชันสูตรศพ พบว่า มดลูกแตก ด้านแนวราบ มีรกขวางอยู่ตรงรอยแตก สาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากช็อก 3,000 ซีซีในช่องท้อง ทำให้เด็กเสียชีวิต การรักษาโดยการให้น้ำเกลือซึ่งไม่มีผล จะต้องผ่าตัดนำลูกออกและเย็บปากแผล ปกติเลือดในร่างกายคนมีประมาณ 5,000 ซีซี ส่วนจะนำส่งข้อมูลมาให้ใครหรือไม่ หรือสาเหตุที่ทำให้มดลูกแตกเกิดจากการอะไรนั้น ไม่สามารถเปิดเผย เพราะไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งหน้าที่ของตนเองหน้าคือพิสูจน์สภาพศพที่มาถึงสถาบันนิติเวช