xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง “ขริบจู๋” พยาบาลผ่าตัดแทนหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง “ขริบจู๋” หลังพบพยาบาลวิชาชีพชาย ผ่าตัดแทนหมอ ประชุมหาข้อสรุปวันที่ 27 มกราคมนี้ ยกเป็นอุทาหรณ์เล็งกำหนดหลักเกณฑ์เวลาทำงานของแพทย์ ไม่ให้ทำงานหนักไป ป้องกันรักษาผิดพลาด ด้าน สปสช.รอผลสอบก่อนพิจารณาต่อสัญญาหรือไม่

จากกรณีที่ นางรัตนาพร มนัสชื้น อายุ 45 ปี พาบุตรชายอายุ 12 ปี ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากได้พาบุตรชายเข้ารับการรักษาอาการฝีในปากที่คลินิกเวชกรรมมหาชน พระประแดง ซึ่งเข้าร่วมในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่กลับรักษาผิด โดยทำการผ่าตัดขริบที่อวัยวะเพศแทนการรักษาฝีในปาก ซึ่ง สธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกองการประกอบโรคศิลปะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นั้น

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า กรณีนี้ผู้ที่ทำการผ่าตัดเป็นพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเป็นพยาบาลผู้ชาย ไม่ได้เป็นแพทย์ตามที่เข้าใจแต่แรก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ดังนั้น ปลัด สธ.จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน โดยมี นพ.ปัญญา กีรติหัตถยากร ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 15 คน อาทิ สบส.แพทยสภา สภาการพยาบาล สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่าในทางวิชาชีพพยาบาล ว่า สามารถทำการผ่าตัดแทนแพทย์ได้หรือไม่ และหากทำได้จะทำได้ในกรณีใดบ้าง เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการจะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 27 มกราคมนี้

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบ สถานพยาบาลดังกล่าว พบว่า สถานประกอบการมีใบอนุญาตได้มาตรฐานถูกต้องตามที่กำหนด แต่ผู้ผ่าตัดเป็นพยาบาล ซึ่งจะต้องตรวจสอบตามขั้นตอนว่าผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งมาตรการการลงโทษ คงต้องดูถึงสาเหตุ และรายละเอียดของเหตุการณ์ด้วยว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร เนื่องจากคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความแออันของสถานพยาบาล และให้ความสะดวกแก่ประชาชนในชุมชน กรณีดังกล่าวถือเป็นอุทาหรณ์ ที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ในเรื่องของมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งอาจจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องเวลาในการทำงานของแพทย์ เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องทำงานหนักเกินไปจนเกิดความผิดพลาดขึ้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของคลินิกดังกล่าว พบว่า ตลอดเวลา 3 ปี ที่เข้าร่วมเป็นคลินิกลูกข่ายของ สปสช.มีเรื่องร้องเรียนผ่านมาทางสายด่วน สปสช.1330 เพียง 5-6 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนเล็กน้อยไม่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพแพทย์ เช่น รอคิวรักษานาน ให้ยาทานแล้วใช้เวลานานกว่าจะหายจากอาการป่วย เป็นต้น ซึ่งผลการตรวจสอบทุกเรื่อง พบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ทำผิดการประกอบวิชาชีพแพทย์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการผ่าตัดผิดที่ ทางสปสช.จะรอผลการตรวจสอบจากกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ.เพื่อนำมาพิจารณาการต่อสัญญาของ สปสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น