xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาชี้ “ขริบจู๋เด็ก” สื่อสารเพี้ยน-ไม่เจตนา ป้องหมอไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แพทยสภาป้องหมออีก ชี้ เด็กถูกขริบจู๋ แพทย์ไม่ผิด เพราะตรวจวินิจฉัยโรคถูกต้อง แต่สื่อสารกับพยาบาลผิดพลาด ถือว่าไม่เจตนา เตรียมส่งเรื่องเข้าอนุกรรมการจริยธรรม สรุปผลเป็นทางการ ส่วนพยาบาลวิชาชีพผ่าตัดย่อยได้ ระบุขริบอวัยวะเพศเป็นเรื่องดี แต่กรณีนี้ผิดเจตนารมณ์ผู้ป่วย เร่งทำคู่มือคำที่ผิดบ่อย แจกบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

จากกรณีที่ นางรัตนาพร มนัสชื้น อายุ 45 ปี พาบุตรชาย อายุ 12 ปี ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากได้พาบุตรชายเข้ารับการรักษาอาการฝีในปากที่คลินิกเวชกรรมมหาชน พระประแดง ซึ่งเข้าร่วมในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่กลับรักษาผิด โดยทำการผ่าตัดขริบที่อวัยวะเพศแทนการรักษาฝีในปาก ซึ่ง สธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นั้น

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รักษาการนายกแพทยสภา กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงาน ว่า แพทย์ผู้ตรวจอาการและบันทึกลงในประวัติของผู้ป่วย ได้ตรวจและวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง แต่การสื่อสารผิดพลาด ทำให้ผู้ผ่าตัดผ่าตัดรักษาผิดที่ โดยแพทย์เขียนวิธีการรักษาเป็นภาษาอังกฤษว่า “Excisiom” ซึ่งมีความหมายว่า “ให้ตัดเอาออก” หมายถึงให้ตัดเอาฝีในปากออก แต่เกิดการเข้าใจผิดว่าแพทย์สั่งให้ขริบอวัยวะเพศเด็ก ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Circumcision”

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติหากเป็นฝีที่ปาก จะไม่มีการตัดออก แต่จะปล่อยให้ฝีแตกเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดดูอวัยวะเพศเด็ก พบว่า มีปัญหาหนังหุ้มปลายรูดไม่สุด เจ้าหน้าที่จึงมั่นใจว่าแพทย์สั่งให้ขริบปลายอวัยวะเพศ และเมื่อดำเนินการแล้วเด็กร้องทัก ก็เข้าใจว่า เด็กอาย ซึ่งพยาบาลได้บอกเด็ก ว่า ไม่ต้องอาย

“จากข้อมูลที่ได้รับในขณะนี้ เห็นว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้เจตนา แต่เป็นผลจากการสื่อสารที่ผิดพลาด แพทย์ผู้วินิจฉัยจึงไมมีความผิด เพราะดำเนินการถูกต้องทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม จะส่งเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการจริยธรรมแพทยสภา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสรุปผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่า ผู้ที่ทำการผ่าตัดไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพยาบาลวิชาชีพนั้น การผ่าตัดขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ เป็นเพียงการผ่าตัดย่อย ที่แพทย์สามารถมอบหมายให้พยาบาลทำได้ โดยส่วนใหญ่การเย็บแผล ล้างแผล หรือตกแต่งแผล พยาบาลก็เป็นผู้ปฏิบัติทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าพยาบาลมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญมากกว่าแพทย์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การขริบปลายอวัยวะเพศเด็กไม่มีข้อเสีย แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ทำให้โอกาสในการเป็นโรคมะเร็งและกามโรคน้อยลง ซึ่งในหลายประเทศก็ให้เด็กขริบอวัยวะเพศ แต่ประเทศไทยไม่นิยม โดยเฉพาะเด็กรายนี้จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเด็กมีปัญหาหนังหุ้มปลายถลกไม่สุด หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค จนอาจนำสู่การก่อมะเร็ง เพียงแต่กรณีนี้ผิดเจตนารมณ์ของผู้ป่วย

“เรื่องการสื่อสารผิดพลาดในวงการแพทย์เกิดขึ้นบ่อย ทั้งการหยิบยาผิด ฟังคำวินิจฉัยโรคผิดพลาด ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้คำภาษาอังกฤษ ที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสภาการพยาบาล ได้ดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยรวบรวมข้อมูลความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกรทั่วประเทศ มาจัดทำเป็นคู่มือส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพรับรู้ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำไหนที่ห้ามพูดสื่อสารทางโทรศัพท์ และคำไหนที่ใกล้เคียงกันให้เขียนตัวใหญ่ในส่วนที่แตกต่างกัน เป็นต้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น