สธ.สร้างแรงจูงใจบุคลากรในชนบท ปรับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ ตามพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร และตามระยะเวลาที่ปฏิบัติงานจริง พร้อมปรับปรุงรายชื่อโรงพยาบาลชุมชนตามความเหมาะสมทุกๆ 2 ปี ขณะที่ “วิทยา” หนุนเต็มที่ ชี้หากหมอไม่มีความสุข ประชาชนก็ยากที่จะมีความสุข พร้อมเปิดห้องรับฟังปัญหาจากทุกคน
วันที่ 25 ธันวาคม ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมชี้แจงการเบิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชน โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนทันตแพทย์ เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวทางการเบิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จัดทำฐานข้อมูลและข้อมูลค่าใช้จ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อประกอบในการเตรียมขอตั้งเบิกงบประมาณจากรัฐบาล ตลอดจนรับทราบแนวทางการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน
นายวิทยา กล่าวว่า ได้ทราบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลในชนบทมานานแล้ว บุคลากรเหล่านี้ถูกทอดทิ้งเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอดหลาย 10 ปี แพทย์ที่รู้จักหลายท่านอยู่ชนบท 1-2 ปีก็เข้ามาอยู่ในเขตเมือง ผ่านไป 4-5 ปี ก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ การรวมตัวของชมรมแพทยชนบทท่ามกลางสภาพปัญหา จึงเป็นการเกาะกุมกันเกิดเป็นกลุ่มแพทย์ชนบทที่ยังคงไม่หนีหายไปไหน จึงขอขอบคุณแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลทุกท่านที่ได้เสียสละ ปฏิบัติงานรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชนบทมาอย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดีต่อไป
“การปรับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งนี้ ถือเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จของแพทย์ชนบท และรัฐบาลจะให้ความมั่นใจในการสานต่อสิ่งที่แพทยชนบทเป็นหลักตั้งต้นในการแก้ปัญหา โดยจะพยายามสร้างแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจให้หมอ พยาบาลทำงานได้อย่างมีความสุข มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพราะตราบใดที่แพทย์ พยาบาลยังไม่มีความสุข ประชาชนก็ยากที่จะมีความสุขได้” นายวิทยา กล่าว และว่า นอกจากนี้ ตนยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆ คน หากจะชี้แนะหรือปรึกษาหารือเรื่องใดๆ ก็สามารถเข้ามาที่ห้องทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะเปิดกว้างและพร้อมจะรับฟัง
ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายใหม่ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัยในสังกัด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการประชุมวันนี้จะนำเสนอให้สำนักงบประมาณและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า การปรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยครั้งนี้ อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งระดับโรงพยาบาลชุมชนตามลักษณะการให้บริการเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้นโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือเวชปฏิบัติครอบครัว ระดับกลางโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก และระดับสูงโดยแพทย์เฉพาะทางสาขารอง และแบ่งระดับโรงพยาบาลชุมชนตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ปกติ 2.พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรระดับ 1 และ 3.พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรระดับ 2
“ในพื้นที่ปกติ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ปกติเป็นประจำ และมีตำแหน่งหลักอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนนั้น หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนหรือหน่วยบริการในเครือข่ายของโรงพยาบาลชุมชน สำหรับในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร ตามที่คณะกรรมการที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้กำหนด โดยมีการปรับปรุงรายชื่อโรงพยาบาลชุมชนตามความเหมาะสมทุกๆ 2 ปี” นพ.ปราชญ์ กล่าว