สธ.เปิดแผน 4 ปี ผลิตพยาบาลวิชาชีพเข้าระบบอีกกว่า 3 หมื่นคน เติมเต็มระบบบริการสุขภาพ ลดภาระงานให้ใกล้เคียงมาตรฐานองค์การอนามัยโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพในสถานบริการทุกระดับ ช่วยให้ระบบบริการมีคุณภาพ
วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นการประชุมวิชาการประจำปี เรื่อง “ทางออกวิกฤตพยาบาล” จัดโดยสมาคมศิษย์วิทยาพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ เพื่อระดมความคิดจากพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน จำนวน 500 คน หาแนวทางการผลิตบุคลากรพยาบาลที่มีคุณภาพ และรักษากำลังคนไว้ในระบบบริการสุขภาพ
นายวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 78,208 คน สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชน สถานการณ์ขาดแคลนพยาบาลนับว่า อยู่ในขั้นวิกฤต โดยมีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทุกระดับและสถานีอนามัย จำนวน 71,917 คน เมื่อคิดตามความต้องการพยาบาลตามเกณฑ์ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) รวมถึงภาระงานที่ต้องทำทดแทนกำลังคนที่ควรมีปกติ และการทดแทนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลาออก พบว่ากระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนพยาบาลอีกถึง 31,406 คน
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการเติมเต็มพยาบาลวิชาชีพในระบบระหว่างปี 2553-2556 สถาบันพระบรมราชชนก รวมทั้งสถาบันการศึกษาพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนอื่น มีแผนเพิ่มการผลิตพยาบาลวิชาชีพ จากปีละ 5,750 คน เป็น 8,070 คน รวม 4 ปี จะสามารถผลิตพยาบาลเพิ่มได้จำนวน 32,280 คน พร้อมกันนี้ ได้มีแผนพัฒนาบุคลากรสาขาอื่น ได้แก่ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน ให้เป็นพยาบาลวิชาชีพ อีกจำนวน 2,760 คน ดังนั้นเมื่อครบ 4 ปี จะมีพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเป็น 35,040 คน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณใกล้เคียงกับที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีการผลิตผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปี อีก 10,000 คน เพื่อช่วยลดภาระงานของพยาบาลในระบบด้วย
สำหรับกำลังคนสาขาพยาบาลที่มีอยู่เดิม กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาศักยภาพพยาบาลในหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์แพทย์ชุมชน 1,000 แห่ง สถานีอนามัยขนาดใหญ่ 3,044 แห่ง และสถานีอนามัยขนาดเล็ก 6,797 แห่ง รวม 15,885 คน ให้เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติจำนวน 15,885 คน ส่วนพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ จะพัฒนาให้เป็นพยาบาลเฉพาะทาง 8 สาขา จำนวน 8,360 คน ซึ่งแนวทางดังกล่าว นอกจากจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลเพียงพอกับความต้องการแล้ว พยาบาลที่มีอยู่ยังมีศักยภาพ ส่งผลให้ระบบบริการมีคุณภาพด้วย
“ส่วนการดูแลด้านขวัญ กำลังใจจะพิจารณาเรื่องการปรับระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับภาระงาน รวมถึงพยาบาลที่ต้องทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่เสี่ยงภัยด้วย ส่วนเรื่องความก้าวหน้าซึ่งขณะนี้ไม่มีระบบซีแล้วได้ให้อกพ.กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาความก้าวหน้าของพยาบาลให้เป็นธรรมมากขึ้น การดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของพยาบาลและบุคลากรอื่นๆ ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ” นายวิทยา กล่าว