xs
xsm
sm
md
lg

โจ๋ไทย 1.6 ล้านคน น่าห่วง ใช้เงินสูบบุหรี่เฉลี่ย 10 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เผยสถานการณ์สิงห์อมควัน โจ๋ไทย 1.6 ล้านคน ยังน่าห่วง ใช้เงินสูบเฉลี่ยวันละ 10 บาท รวมจ่ายเงินไร้ค่า 20 ล้านต่อวัน พบเด็กอายุไม่ถึง 18 ส่วนใหญ่ซื้อบุหรี่ได้สบายไม่เคยโดนตรวจบัตร ร้อยละ 68 ซื้อบุหรี่แบ่งขายได้ ขณะที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ได้ผล สร้างแรงกดดันให้อยากเลิกบุหรี่ได้ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเป็นองค์ประธานและมอบโล่รางวัลควบคุมยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แก่บุคคลและองค์กรดีเด่น

วันที่ 4 ส.ค.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 7 เรื่อง “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่” โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นกลุ่มเยาวชน ปี 2550 มีเยาวชนถึง 1.6 ล้านคน ที่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 1 แสนคน โดยกลุ่มอายุ 15-18 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6 หมื่นคน กลุ่มอายุ 19-24 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าเยาวชนยังมีค่านิยมผิดๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกลยุทธของบริษัทบุหรี่ ที่พยายามผลิตบุหรี่แบบแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น บุหรี่ชูรส ปรุงกลิ่น เพื่อหลอกล่อเยาวชนให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่

“เยาวชนใช้เงินซื้อบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 บาทต่อคน รวมแล้วคิดเป็นวันละกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายที่ไร้ค่า โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2550 พบว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.60 ไม่เคยถูกผู้ขายตรวจบัตรประชาชน และร้อยละ 58.80 ไม่เคยถูกปฏิเสธที่จะขายบุหรี่ด้วยวาจา ทั้งนี้ ร้อยละ 68.25 ซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงบุหรี่และการละเมิดกฎหมายยังคงมีอยู่ซึ่งรัฐจำเป็นต้องควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว

ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวต่อว่า จากการทำวิจัย เรื่อง “ความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่” ระหว่างวันที่ 9-29 กุมภาพันธ์ 2551 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและเขตเทศบาลของจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา พบว่า ร้อยละ 30.6 ระบุว่าสูบเป็นประจำตอนอายุ 15 ปี และร้อยละ 15.8 สูบเป็นประจำตอนอายุ 14 ปี โดยร้อยละ 75.7 มีเพื่อนสนิทเป็นคนที่สูบบุหรี่ด้วย กว่าร้อยละ 20 สูบเฉลี่ยวันละ 10 มวนขึ้นไป นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานที่ที่สูบเป็นประจำคือ บ้านพักตนเอง บ้านเพื่อน และ โรงเรียน

ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวด้วยว่า เมื่อสำรวจถึงความรู้สึกตำหนิพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบว่า ร้อยละ 90 ระบุว่า ครู เป็นคนที่น่าตำหนิที่สุดหากสูบบุหรี่ในสถานศึกษา รองลงมาคือ เพื่อนสนิทเพศหญิง จะถูกตำหนิมากกว่าเพื่อนผู้ชาย และ แฟน โดยการแสดงออกต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่สูบบุหรี่นั้น พบว่า ถ้าหากเป็นกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดและสนิท กลุ่มตัวอย่างจะแสดงอาการไม่พอใจ ต่อว่า เตือน ขณะที่หากเป็นกลุ่มบุคคลที่ไกลตัวและไม่รู้จักจะแสดงออกโดยหลีกเลี่ยง เดินออกจากบริเวณนั้น

“แรงกดดันจากคนรอบข้างให้เลิกสูบบุหรี่ พบว่า ตัวอย่างกว่าร้อยละ 60 ระบุว่า ไม่ค่อยกดดัน หรือไม่รู้สึกกดดันเลย ขณะที่ร้อยละ 38.4 ระบุว่ารู้สึกค่อนข้างกดดันจนถึงกดดันมาก เมื่อสอบถามถึงแรงกดดันจากสังคมให้เลิกสูบบุหรี่ พบว่า ตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ระบุว่าได้รับแรงกดดันมาก ถึงค่อนข้างกดดันจากกฎหมายเขตปลอดบุหรี่ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่สาธารณะ” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการประกาศผลรางวัลควบคุมยาสูบแห่งชาติ ประจำปี 2551 ครั้งที่ 2 โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธาน พร้อม ประทานโล่รางวัล ให้บุคคลและองค์กรดีเด่น ในการควบคุมยาสูบ โดยมีบุคคลและองค์กรได้รับรางวัลทั้งสิ้น 10 รางวัล ใน 6 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการควบคุมยาสูบ คือ ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แกนนำในการจัดทำ Quitline สายด่วนเลิกบุหรี่ รวมถึงเป็นวิทยากรในการอบรมวิทยากรรุ่นต่อไปในการช่วยเหลือผู้เลิกบุหรี่

2.ประเภทบุคคลดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ได้แก่ นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้สนับสนุนโครงการโรงเรียนสีขาว และสนับสนุให้กระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และน.ส.บุษริน เพ็งบุญ พยาบาลวิชาชีพ ระดับ 7 โรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ได้รณรงค์ในพื้นที่อย่างจริงจัง 3.ประเภทองค์กรภาครัฐดีเด่นที่คว้ารางวัลด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ซึ่งสามารถรณรงค์ โรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100%

4.ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ได้แก่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และเครือข่ายศิลปินเพื่อศิลปะปลอด (บริษัท)บุหรี่ ใช้ศิลปะที่เป็นสื่อกลางในการรณรงค์ให้วัยรุ่น และประชาชนไม่สูบบุหรี่

5.ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย จ.ลำปาง 6.ประเภทองค์กรเยาวชนดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ได้แก่ ชมรมพี่สอนน้องโรงเรียนบางมดวิทยา “สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” และกลุ่มเยาวชนดาวในฝัน จ.เชียงใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น