xs
xsm
sm
md
lg

ขี้ยาสาวไทยพุ่ง เชื่อผิดๆ พ่นควันทำให้สังคมยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาวไทย น่าห่วง กลายเป็นสิงห์อมควันเพิ่ม เหตุค่านิยมผิดๆ เชื่อสูบแล้วสังคมยอมรับ ตะลึง หัดพ่นควันครั้งแรกไม่ถึง 12 ขวบ เท่าผู้ชาย อ้างคลายเครียด แถมสูบโชว์พ่อแม่ เผยบริษัทบุหรี่ ทุ่มงบศึกษา ทำมวนเล็กเรียว รสผลไม้ หลอก ผศ.ดร.วิลาสินี ชี้ เน้นรณรงค์แต่ผู้ชายทำสาวอมควันเพิ่ม ศจย.เตรียมระดมสมองนักวิชาการ นักวิจัย ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7

วันนี้ (3 ส.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ธราดล เก่งการพานิช ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงในประเทศไทย โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในนักเรียนหญิงในระดับ มัธยมต้น-ปลาย และ อุดมศึกษา จำนวน 3,093 คน แบ่งเป็น กทม.- ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า มีวัยรุ่นหัดสูบบุหรี่ครั้งแรกมีอายุต่ำกว่า 12 ปี ร้อยละ 10.2 สูบอายุระหว่าง 12-13 ปี ร้อยละ 21.2 ในจำนวนนี้ต้องสูบทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 42.1 เกือบทุกวัน โดยสูบมากกว่า 5 ม้วนต่อวัน ร้อยละ 33.4 ขณะที่ผู้ชายสูบในช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ถึงร้อยละ 10 และจำนวนการสูบใกล้เคียงกัน คือ ผู้ชายสูบมากกว่า 5 มวนต่อวัน อยู่ที่ร้อยละ 40

“ที่น่าตกใจ คือ มีวัยรุ่นจำนวนมากที่ยอมรับว่าเคยสูบบุหรี่ต่อหน้าพ่อ แม่ หรือพ่อ แม่สูบบุหรี่ด้วย มากถึงร้อยละ 18.8 และสูบพร้อมกับเพื่อน ร้อยละ 89.3 วัยรุ่นส่วนใหญ่จะซื้อบุหรี่มาสูบเอง ร้อยละ 53.8 โดยซื้อบุหรี่จากร้านขาย ของชำ ร้านสะดวกซื้อ มากที่สุด คือ ร้อยละ 68.1 ขณะที่วัยรุ่นหญิงร้อยละ 70.5 เห็นว่า บุหรี่ที่สูบได้มาง่ายมาก” รศ.ธราดล กล่าว

รศ.ธราดล กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.4 เคยสูบในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และร้อยละ 5.8 เคยสูบในช่วง 7 วันที่ผ่านมา นักเรียนหญิงในระดับอุดมศึกษา และในเขตเมือง จะสูบมากกว่าชนบท ส่วนสถานที่ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นที่บ้าน หรือบ้านเพื่อนมากถึง ร้อยละ 49.2 สูบในโรงเรียน หรือสถาบัน ร้อยละ 13.7 ส่วนเหตุผลที่สูบเพื่อลดความเครียด และผ่อนคลาย ร้อยละ 48.2 ตามเพื่อน ร้อยละ 32 ขณะที่ในกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 39.6 มีแผนจะเลิกบุหรี่ในอนาคต ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นหญิงหันมาสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นคือ มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ 1-5 คน มีทัศนคติเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่ โดยเชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของคนสมัยใหม่ และสูบบุหรี่เพื่อสังป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน

นายสถาพร จิรัตนานนท์ มูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ขยายตัวไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนากลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของประชากรที่จะมีสัดส่วนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 16 ปีข้างหน้า คือในปี พ.ศ.2568 จำนวนผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มจาก 2.1 พันล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 3.5 พันล้านคน และในจำนวนนี้ป็นผู้หญิงที่สูบบุหรี่มากถึง ร้อยละ 20 หรือประมาณ 700 ล้านคน ขณะที่สถิติการสูบบุหรี่ของผู้หญิงทั่วโลกเมื่อปี 2544 มีเพียง ร้อยละ 3 ของประชากรทั่วโลก หรือประมาณ 200 ล้านคนเท่านั้น

“ผู้หญิงในแถบเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ พบว่า บริษัทบุหรี่ทุ่มงบประมาณมหาศาลศึกษาความต้องการของผู้หญิง เพื่อผลิตบุหรี่ที่มีรูปลักษณ์ รสชาติ ตรงตามความต้องการของผู้หญิงให้มากที่สุด เช่น ม้วนบุหรี่เล็ก เรียวยาว แสดงถึงหุ่นของผู้หญิงที่มีรูปร่างผอม เพรียว หรือรสชาติอ่อนละมุน กลิ่นผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น” นายสถาพร กล่าว

ผศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในกลุ่มผู้หญิงยังไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะพุ่งเป้าการรณรงค์ไปที่กลุ่มนักสูบผู้ชายมากกว่า จึงทำให้ปัจจุบันมีนักสูบหน้าใหม่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น มาตรการป้องกันควรเน้นการสื่อสารข้อเท็จจริง ชี้โทษภัยของบุหรี่ให้เห็น โดยเฉพาะการรณรงค์ในกลุ่มเครือข่ายครอบครัวและกลุ่มเพื่อนให้รู้เท่าทันภัยของบุหรี่ โดยวันที่ 4-5 สิงหาคม 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จะจัดงานประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 7 สนับสนุนโดย สสส.ในหัวข้อเรื่อง “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่” โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งจะมีการเป็นการระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานทางวิชาการ งานวิจัยใหม่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและทางออกร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น